'มือใหม่วัยทำงาน เริ่มต้นลงทุนอย่างไรดี'
สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นทำงาน อาจเคยได้รับฟังเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนมาบ้าง แต่หลายท่านอาจคิดว่าการลงทุนต้องมีเงินเก็บจำนวนมาก รอให้หาเงินได้มากพอก่อน บทความนี้จึงอยากให้ข้อคิดว่าการเริ่มลงทุนไม่ได้ต้องใช้เงินมาก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราด้วย
เริ่มต้นที่ PVD
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่หน่วยงานที่ทำงานมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD (Provident Fund) นั้น นับว่าเป็นขั้นแรกสำหรับการลงทุน ซึ่งในระยะยาวนั้น PVD ถือว่าเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญมากเมื่อเกษียณ ในส่วนนี้ ก็ควรมีการกลับไปสำรวจกันว่าปัจจุบันเราส่งเงินสะสมเข้า PVD อยู่ที่กี่ %
ซึ่งโดยทั่วไปลูกจ้างจะสามารถสะสมได้อยู่ในช่วง 2-15% ของเงินเดือน ซึ่งก็ควรพิจารณาหักเงินสะสมในอัตราที่สูงเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งบางบริษัทอาจมีการกำหนดในข้อบังคับกองทุนด้วยว่าจะปรับอัตราเงินสมทบเพิ่มตามอัตราเงินสะสมของพนักงาน
อีกสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับ PVD ที่ควรให้ความสำคัญก็คือ นโยบายการลงทุน ซึ่งในปัจจุบัน PVD มักเป็นแบบที่ให้ลูกจ้างเลือกสัดส่วนการลงทุนได้เอง ที่เรียกว่า employee’s choice ในส่วนนี้อาจต้องกลับไปดูว่าสัดส่วนการลงทุนที่เลือกอยู่เป็นอย่างไร มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคง (ความเสี่ยงต่ำ) เช่น ตราสารหนี้ เทียบกับสินทรัพย์ผลตอบแทนสูง (ความเสี่ยงสูง) เช่น หุ้น เป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ โดยหากจะทำให้ง่าย
อาจใช้วิธีเลือกนโยบายที่ลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนเท่ากับ “100 - อายุในปัจจุบันของท่าน” เช่น ถ้าอายุ 30 ปี ก็ให้เลือกลงทุนใน PVD ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น 70% ซึ่งแบบนี้จะทำให้ตอนอายุยังน้อยจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงและค่อยๆ ลดสัดส่วนลงไปเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โดยการเลือกลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงจะทำให้ PVD ของเรามีโอกาสเติบโตสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ แล้วจึงค่อยๆ ลดสัดส่วนของหุ้นลงมาเมื่อเราอายุมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง
เริ่มง่ายด้วย DCA
นอกจาก PVD แล้ว มือใหม่ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนเองโดยตรงได้ไม่ยากโดยไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อน เพราะเราสามารถใช้เทคนิคทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) มาช่วยได้ ข้อดี คือ ใช้เงินน้อยค่อยๆ ทยอยลงทุนได้ และไม่ต้องกังวลกับเวลาในการเลือกลงทุนหรือภาวะตลาด เนื่องจาก DCA จะเป็นการลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กันเป็นงวดๆ ทำให้ต้นทุนราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนถูกถัวเฉลี่ยกันไปตลอดระยะเวลาที่ลงทุน ไม่ต้องมากังวลว่าจะต้องเข้าลงทุนในวันไหนดีถึงจะได้ราคาถูก เป็นการสร้างวินัยและตัดปัญหาด้านอารมณ์ว่าจะลงทุนเมื่อไรดี
การทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA นั้น ผู้ลงทุนอาจเลือกใช้ได้ทั้ง หุ้น กองทุนรวมอีทีเอฟ หรือกองทุนรวมทั่วไป สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนใน “หุ้น” ก็ต้องมีการคัดสรรหุ้นที่ชอบที่คิดว่ามีพื้นฐานดี แต่หากคิดว่ายังไม่มีประสบการณ์ลงทุนเลย
อาจเริ่มจากการลงทุนใน “กองทุนรวม” ในลักษณะของ Index Fund หรือกองทุนรวมดัชนีที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนล้อตามดัชนี ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพราะผู้ลงทุนสามารถมีการกระจายการลงทุนได้เสมือนลงทุนอยู่ในทุกหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนี แม้จะมีเงินลงทุนน้อยก็ตาม อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพหรือผู้จัดการกองทุนคอยดูแลบริหารจัดการพอร์ตให้
ทั้งนี้ ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกกองทุน ก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเช่นกัน เช่น นโยบายการลงทุนว่านำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ มีค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร ระดับความเสี่ยง รวมถึง ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน แม้ว่าผลตอบแทนในอดีตจะไม่ได้บอกหรือการันตีถึงผลตอบแทนในอนาคตของกองทุน
แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจของเราได้ ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุนก็คืออัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนต่อหน่วย หรือการเติบโตของ NAV (Net Asset Value) ต่อหน่วย นั่นเอง โดย NAV ต่อหน่วย คือ ราคาของหน่วยลงทุนที่ใช้อ้างอิงในการซื้อขายกองทุน อย่างไรก็ตาม การที่ NAV ต่อหน่วยสูงหรือต่ำ ไม่ได้หมายความว่ากองทุนนั้นถูกหรือแพง แต่การเลือกกองทุนควรพิจารณาที่อัตราการเติบโตของ NAV เป็นหลัก
สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น หากพิจารณาจะลงทุนแบบ DCA แล้ว การลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุและการออมระยะยาว อย่างเช่น RMF และ SSF ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากจะเป็นการได้ออมเงินและได้ผลตอบแทนจากกองทุนแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย เรียกว่าลงทุนทีเดียวได้ประโยชน์ถึงสองต่อ
มือใหม่ที่อยากจะศึกษาข้อมูลด้านการลงทุนเพิ่มเติมก็สามารถศึกษาได้ที่ www.setinvestnow.com ที่มีข้อมูลความรู้ครบครันสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นลงทุน ตั้งแต่การวางแผนการเงิน ความรู้การลงทุนสำหรับมือใหม่ ทั้งในกองทุนรวม หุ้น ไปจนถึงสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ETF DR ไปจนถึงอนุพันธ์