ศุลกากร ”ไทย - มาเลเซีย” ลงนามร่วมหนุนผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกประวัติดี

ศุลกากร ”ไทย - มาเลเซีย” ลงนามร่วมหนุนผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกประวัติดี

ศุลกากรไทยลงนามร่วมศุลกากรมาเลเซีย อำนวยความสะดวกทางการค้า แก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการนำเข้า และส่งออกที่ดี ในการประชุมศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 32 โดยผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือครั้งนี้มีกว่า 300 ราย

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในการประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 32 ซึ่งกรมศุลกากรไทยได้เป็นเจ้าภาพในการประชุม กรมศุลกากรของไทยกับศุลกากรประเทศมาเลเซีย ได้มีการลงนามความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในการนำเข้า และส่งออกสินค้าของ 2 ประเทศให้แก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการนำเข้า และส่งออกที่ดี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมศุลกากรของไทยได้มีการลงนามความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวกับประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 9 ประเทศ โดยผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในขอบข่ายความร่วมมือมีจำนวนกว่า 300 ราย  

“ผู้ประกอบการที่มีประวัติที่ดี หรือได้รับมาตรฐานการนำเข้าและส่งออก จะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของการอำนวยความสะดวกที่จะมีการลดทั้งขั้นตอนการตรวจสอบ และลดจำนวนเอกสารที่ใช้สำหรับการนำเข้าและส่งออก เป็นต้น ทั้งนี้ จำนวนผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในขอบข่ายภายใต้ความร่วมมือมีจำนวนกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ทยอยเพิ่มขึ้น สะท้อนว่า ผู้ประกอบการของเรามีมาตรฐานการส่งออก และนำเข้าที่ดีมากขึ้น”

สำหรับสาระการประชุมระดับอธิบดีศุลกากรในอาเซียนนั้น มีวาระการประชุมที่สำคัญ อาทิ ความร่วมมือทางพิธีการศุลกากรในอาเซียน เช่น การดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาตการนำเข้า และส่งออกหรือ NSW ซึ่งขณะนี้ ประเทศสมาชิกในอาเซียนได้มีการเชื่อมโยงกันหมดแล้ว แต่ยังไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกพิธีการ การกำหนดมาตรฐานการนำเข้าและส่งออกระหว่างกัน และการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน

นอกจากนี้ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างศุลกากรอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และองค์การศุลกากรโลก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ และประสบการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร รวมถึงการหารือร่วมกับตัวแทนจากภาคเอกชน ได้แก่ EU-ASEAN Business Council และ US-ASEAN Business Council เพื่อรับทราบประเด็นต่างๆ และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า รวมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค อีกด้วย

เขายังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าขณะนี้เราจะพัฒนาการนำระบบไอทีมาใช้ในการตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ ที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก ดังนั้น กรมฯจึงคงให้ความสำคัญกับการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไปพร้อมกับนำระบบไอทีเข้าร่วมตรวจสอบด้วย

สำหรับกรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าหมูแช่แข็งนั้น ขณะนี้ กรมฯได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในกรมฯแล้ว คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ขณะเดียวกัน ได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมตรวจสอบด้วย โดยปริมาณหมูแช่แข็งที่ลักลอบ และรอการส่งทำลายนั้น มีอยู่ประมาณ 4.5 ล้านตัน โดยลักลอบนำเข้ามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์