‘อาทิตย์’ เอสซีบี เอกซ์ จ่อจับมือฟินเทคต่างชาติ ตั้ง Virtual Bank
‘อาทิตย์’ เอสซีบี เอกซ์ ลั่นพร้อมยื่นขอใบอนุญาต ตั้ง Virtual bank เป็น 3รายแรก ซุ่มดึงฟินเทคต่างชาติ ร่วมตั้งแบงก์ไร้สาขา หวังเทคโนโลยีใหม่ช่วยเข้าถึงผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินเพิ่ม
“เอสซีบี เอกซ์” (SCBX) ถือเป็นองค์กร ที่ถูกจับตามองอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากองค์กร ที่มี “พื้นฐาน”เป็นธนาคารพาณิชย์ ไปสู่ ยานแม่ เอสซีบี เอกซ์ ที่เป็น“โฮลดิ้งคอมพานี” ด้านธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัว และเพิ่มขีดความสามารถใหม่ในการแข่งขัน เพื่อมุ่งสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค”
ดังนั้นทุกการเคลื่อนไหวของ SCBX ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุน และภาคธุรกิจจับตามองอย่างมาก เพราะอาจหมายถึง “เทรนด์ใหม่” การเติบโตใหม่ๆ ที่ SCBX มองเห็นและให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรด้วย “AI”ที่ เอสซีบี เอกซ์ มองว่า เป็นสิ่งที่สำคัญกับองค์กรอย่างมากในระยะข้างหน้า
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับความคืบหน้า “ธนาคารไร้สาขา” หรือ Virtual Bank เอสซีบี เอกซ์ มีความพร้อมในการเตรียมยื่นขอใบอนุญาต หรือไลเซ่นส์ การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา 3 ไลเซ่นส์แรกแน่นอน แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ เงื่อนไขของธปท. เพราะปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆใหม่
"แต่บนความคิดของ เอสซีบี เอกซ์ การทำ Virtual Bank คือต้องตอบโจทย์ กลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เต็มที่ Underbanked หรือคนที่ด้อยโอกาส Underserved แต่หากเงื่อนไขการทำ Virtual Bank ไม่ได้ตอบโจทย์2 กลุ่มนี้ หรือไปตอบโจทย์กลุ่มที่เราเข้าถึงอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรในการทำ Virtual Bank"
“อาทิตย์” กล่าวว่า เรามีความพร้อม ที่จะทำเรื่อง Underbanked UnderServed ที่จะเป็น Pain Point ในปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ เอสซีบี เอกซ์ อยากทำ คือจะต้องเป็น Income inequality การลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ดังนั้นเราพยายามเข้าไปConvince สิ่งเหล่านี้ เราพร้อมที่จะเข้าไปทำ
ส่วนรูปแบบในการจัดตั้ง Virtual Bank เอสซีบี เอกซ์ จับมือกับพันธมิตรแน่นอน ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจฟินเทคในต่างประเทศ ที่มีเทคโนโลยี มี Know how technology เพราะ Virtual bank ไม่ใช่ส่วนขยายเดิมของแบงก์ ดังนั้นการจะทำ Virtual Bank จะต้องมีระบบดีๆ ดังนั้น เรื่องความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญมาก
“ฐานลูกค้า" ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะฐานลูกค้าเดิมของแบงก์ก็มีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กำลังพูดถึง คือกลุ่มรากหญ้า กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งอาจไม่ใช่ฐานลูกค้าของแบงก์ ดังนั้นการได้ฐานลูกค้าในอีโควซิสเต็มอื่นๆ จะต้องขึ้นอยู่กับโปรดักต์ที่เราทำ โปรดักต์ที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ เข้าถึงสินเชื่อได้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ ดังนั้นหากเราไม่มีโปรดักต์ที่ดีต่อให้ได้ฐานลูกค้าจำนวนมาก ก็แค่นั้น”
“ดอกเบี้ย” จะเป็นตัวที่เป็นอุปสรรค และมีผลอย่างมาก ในการทำ Virtual Bank ต่อความครอบคลุม เพราะยิ่งอยากจะครอบคลุมคนจนมากเท่าไหร่ เรื่องแรกที่ต้องมีคือ Risk-based Pricing คือ การปล่อยสินเชื่อตามความเสี่ยงลูกหนี้ บนดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงลูกหนี้ เป็นสิ่งจำเป็นมาก
เพราะหากไม่คำนึงถึง Risk – based Pricing แต่เน้นเฉพาะดอกเบี้ยต่ำ สุดท้ายก็คงไม่มีใครเข้าไปปล่อยสินเชื่อ หรือทำธุรกิจนี้ และคงปล่อยกู้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เห็นโจทย์เหล่านี้อยู่แล้ว
ดังนั้น ต้องกำหนด KPI ให้ชัดเจน ว่ากลุ่มเป้าหมาย คืออะไร หากจะเน้นเจาะกลุ่มคนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำๆเป็นเรื่องยาก แต่หากไม่กำหนดปล่อยให้ดอกเบี้ยสูงมาก ก็อาจเป็นความเสี่ยงในการปล่อยกู้ได้เช่นกัน ดังนั้นต้องเอาให้พอดี หรือสมดุล ถึงจะบรรจุเป้าหมายของการทำ Virtual Bank
ทั้งนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนองค์กรของ “เอสซีบี เอกซ์” ในระยะข้างหน้า มองว่า AI (Artificial intelligence) หรือปัญหาประดิษฐ์ จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจ และต่อองค์กรในระยะข้างหน้า
โดยการเปลี่ยนแปลงของ AI จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจในทุกสาขา ทั้งกระบวนการทำงาน ทั้งรูปแบบวิธีการตอบโจทย์ หรือให้บริการลูกค้าที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่อีกด้าน AI จะเป็นตัวที่เข้าไปกระทบต่อรูปแบบการทำงานแบบเดิม กระทบต่อคนที่ทำงาน ดังนั้นเหล่านี้เป็นโจทย์ของภาคเอกชน หรือผู้นำ ที่ต้องคิดและปรับตัว เพื่อทำให้เกิดผลิตภาพ หรือ Productivity เพิ่มขึ้น และต้องมีการจัดสรร แบ่งปัน เพื่อให้คนที่ถูกผลกระทบจากความสามารถของ AI อยู่รอดต่อไปได้
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Responsible AI ที่เป็นทั้งความสามารถ เป็นเครื่องมือ ที่ช่วยในการออกแบบและควบคุม จากการทำงานของ AI ดังนั้นความสามารถที่เกิดขึ้นของ AI ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เพราะว่าความสามารถที่เกิดขึ้นใหม่ เกิดผลประโยชน์ที่ดีมากขึ้นจริง แต่อีกมุมอาจส่งผลกระทบต่อสังคม ต่อประชาชนได้ หากไม่มีการวางแผนและรับผิดชอบเรื่องพวกนี้ เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
“เรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ต่อภาคธุรกิจ และผู้นำขององค์กรควรฉกฉวยโอกาสในการที่จะศึกษา เข้าใจ และต้องนำมาใช้ Adoption อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างมีความรับผิดชอบ เพราะการเข้ามาของ AI หลายส่วนจะเข้ามาแทนที่มนุษย์แน่นอน แต่เมื่อแทนแล้ว จะเกิด Productivity ที่ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรกับส่วนที่ถูกทดแทน มนุษย์จะไปอยู่ตรงไหน สิ่งสำคัญคือผู้นำต้องจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบจากการนำAIมาใช้”
กระบวนการทำงานของ “ เอสซีบี เอกซ์” ที่ผ่านมา มีการนำ AI มาใช้อย่างเข้มข้น เราตั้งเป้าหมายในการเป็นองค์กร ที่จะเป็น AI first ฉะนั้นการนำ Data หรือ Big Data มาใช้จะแตกต่างกับอดีต ซึ่งอดีตสิ่งพวกนี้เกิดจากคน เกิดจาก Data Scientist หรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลมาเป็น Big Data
แต่จากนี้ไปความสามารถในการสร้างสิ่งต่างๆในองค์กร จะทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพา Data Scientist อีกต่อไป อดีตคนที่ไม่สามารถเข้าใจคณิตศาสตร์ขั้นสูง ก็สามารถCreate โปรแกรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Low Code No Code ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิคในการเขียนโปรแกรมต่างๆ ก็สามารถสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง เทรนด์นี้คือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ องค์กรจึงต้องวางแผนเรื่องเหล่านี้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวให้ดี
“อาทิตย์” ยังเล่าถึงการดำเนินธุรกิจของ SCBX ว่า วันนี้เริ่มเข้าที่ เข้าทาง โดยธุรกิจแบงก์ "ธนาคารไทยพาณิชย์” ก็แข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ SCBX ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ “แบงก์” แต่เราทำแบงก์ให้เป็นแบงก์ แต่ส่วนหนึ่งของการ “ทดลอง” สิ่งใหม่ๆ ได้ถูกแยกมาอยู่ภายใต้ SCBX
ดังนั้น เราจึงมีโอกาสทดลอง มีโอกาสร้างอินโนเวชั่น เอาเรื่อง AI มาใช้ระดับ R&D มาสร้างหรือทดลองกับหน่วยงานคอลเซ็นเตอร์ขององค์กร และสร้าง literacy การอ่านออก เขียนได้ ในเรื่องการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือการใช้ AI มาช่วยให้คำแนะนำ ปรึกษา วางแผนในการใช้เงินต่างๆ เหล่านี้ ทำผ่านAIได้ทั้งหมด
ดังนั้น AI จึงเป็นสิ่งที่ เอสซีบี เอกซ์ ให้ความสำคัญมาก ในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
ส่วนความท้าทายสำหรับธุรกิจในระยะข้างหน้า จะมีทั้งเรื่องความท้าทายแบบเดิมๆ จากปัจจัยภายนอก เช่น การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ Geopolitics เหล่านี้ยังเป็นความท้าทายแบบเดิม แต่ความท้าทายใหม่ มาจากการปรับตัวขององค์กร เพื่อรับกับสิ่งใหม่ๆในระยะข้างหน้า วันนี้เป็นเรื่องยาก ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงกระบวนการขององค์กร ในการกล้าทดลอง และทำให้ องค์กร หากผิดพลาด จะไม่องค์กรเสียหาย
สิ่งเหล่านี้ จะเป็นวิธีการที่ต้องแบ่งแยก ส่วนที่ดี ส่วนที่ถูกสงวนไว้ ให้แข็งแกร่งต่อไป ส่วนที่จะแบ่งทรัพยากรบางส่วนมาทดลอง ก็จะเป็นโครงสร้างของ SCBX ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราค่อนข้างลงตัวกับการเดินงานทั้ง 2 ด้าน