‘เครดิตบูโร’ชี้แบงก์-นอนแบงก์ เช็คประวัติลูกหนี้ถี่ สะท้อนเข้มปล่อยกู้
“เครดิตบูโร” เผย “แบงก์-นอนแบงก์” แห่ เช็กประวัติ “ลูกค้าเก่า-ใหม่” ถี่ยิบ ก่อนปล่อยกู้ หวังป้องกันหนี้เสียเพิ่ม “สุรพล” หวั่น หนี้ค้างชำระ 6 แสนล้าน เป็นเอ็นพีแอล พร้อมเสนอแก้ไขอย่างรวดเร็ว-เป็นมาตรการผ่อนปรนในช่วง 2 ปีนี้ หนุนชำระหนี้ได้
ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อต่อเนื่อง แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัว อีกทั้งยังต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จาก “ค่าครองชีพ” ที่สูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน รวมไปถึง “ดอกเบี้ย” อาจทำให้สถานะการเงิน “อ่อนแอ” และกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ด้อยลง
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ บวกกับยังมีความอ่อนแอของครัวเรือนไทย ทำให้ “สถาบันการเงิน” และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) มีการคัดกรองลูกหนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ สะท้อนจากการเข้าไปดูประวัติลูกค้าใหม่ (Enquiry for new Loan) เพื่อใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อ พบว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 2566 ที่ผ่านมา มีการเข้ามาเช็กประวัติลูกหนี้ถึง 9.16 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมากขึ้น และหากย้อนดูในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2564 ประวัติเช็กประวัติลูกค้าใหม่อยู่ที่ 34.65 ล้านครั้ง และปี 2565 เพิ่มเป็น 45.93 ล้านครั้ง
สำหรับการเข้ามาดูประวัติลูกค้าเก่า (Enquiry for Credit review) ไตรมาสแรกที่ผ่านมา อยู่ที่ 17.2 ล้านครั้ง และปี 2564 อยู่ที่ 64.58 ล้านครั้ง และปี 2565 ที่ 71.04 ล้านครั้ง
นายสุรพล กล่าวว่า การเข้ามาดูประวัติลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้เก่าและลูกหนี้ใหม่มากขึ้น สะท้อนความต้องการคัดกรองลูกหนี้ของสถาบันการเงิน และนอนแบงก์มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการเข้าไปเช็กประวัติลูกหนี้เก่า เพื่อดูว่าสถานะลูกหนี้ด้อยลงหรือไม่
โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์หนี้ค้างชำระหรือหนี้ที่ค้างไม่เกิน 90 วัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากดูภาพรวมลูกหนี้ ค้างชำระที่ถือว่าเป็นพอร์ตที่น่าห่วง หรือลูกหนี้ในกลุ่ม SM พบว่ามีอัตราการขยายตัวของหนี้ค้างชำระสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหากเทียบกับช่วงที่มีหนี้เสีย หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงสุดในระบบเครดิตบูโร คือไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ 1.1 ล้านล้านบาท แต่หนี้ค้างชำระอยู่ระดับต่ำเพียง 3.85 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจุบันแม้หนี้เสียในระบบจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท ในทางกลับกันหนี้ค้างชำระกลับปรับตัวสูงขึ้น 55.8% หรือ 6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2565
โดยใน 6 แสนล้านบาท พบว่า เป็นยอดค้างชำระจากสินเชื่อเช่าซื้อมากที่สุด 1.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% หากเทียบกับไตรมาส 2ปีก่อน ถัดมาคือ สินเชื่อบ้าน ค้างชำระที่ 1.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.2% ขณะที่สินเชื่อบุคคล 1.55 แสนล้านบาท ยอดค้างชำระเพิ่มขึ้น 129%
นอกจากนี้ สินเชื่อเพื่อการเกษตร พบว่า มียอดค้างชำระเพิ่มขึ้นถึง 480% มาอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 118% เป็น 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นภาพที่ไม่สบายใจ เนื่องจากการค้างชำระของลูกหนี้กลุ่มนี้ สะท้อนการเลี้ยงงวดไปเรื่อยๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่ลูกหนี้กลุ่มนี้ จะไหลไปเป็นหนี้เสียได้
นายสุรพล กล่าวว่า หากดูไส้ในของ พอร์ตลูกหนี้ ที่ค้างชำระ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่ค้างชำระทั้งหมด 1.6 แสนล้านบาท พบว่า 70% เป็นพอร์ตสินเชื่อบ้านที่อยู่กับธนาคารแห่งรัฐที่ 1.12 แสนล้านบาท ซึ่งคนที่กู้แบงก์รัฐส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย
ดังนั้นกลุ่มนี้น่าห่วง เช่นเดียวกันกับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ ที่ค้างชำระ 1.9แสนล้านบาท ซึ่งพบว่า มาจากกลุ่มลูกหนี้ ที่มาจากเจนวาย และเจนเอกซ์ 1 ล้านบัญชี ซึ่งในนี้ 50% เป็นหนี้เสีย และถูกยึดรถขายทอดตลาดไปแล้ว แต่อีก 5 แสนสัญญา หรือ 5 แสนคัน กำลังมีปัญหาการค้างชำระ ดังนั้นหากกลุ่มนี้ไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ จนถึงงวดที่ 4 ก็อาจหลีกเลี่ยงการถูกยึดรถไม่ได้
ทั้งนี้ปัญหา “หนี้ครัวเรือนไทย”วันนี้ ที่ห่วงมากขึ้น เพราะ หนี้เสีย และหนี้ที่กำลังจะเสียมาอยู่ในกลุ่มสินเชื่อที่มีความสำคัญ คือ สินเชื่อบ้าน และรถยนต์ หากเทียบกับอดีต หนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่นักอยู่ในสินเชื่อพีโลนเป็นหลัก
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยพบว่า อยู่ที่กว่า 15 ล้านล้านบาท และอยู่บนระบบเครดิตบูโร 13.2 ล้านล้านบาท ซึ่งอีกกว่า 2 ล้านล้านบาท ไม่ได้อยู่ในระบบเครดิตบูโร
ส่วนที่หายไปคือ พอร์ตสินเชื่อครู และบุคลากรการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่า หนี้ครูที่อยู่บนระบบสหกรณ์ มีราว 8 แสนล้านบาท และอยู่บนระบบเครดิตบูโร หรือเป็นสินเชื่อในระบบที่ 6 แสนล้านบาท ดังนั้นการแก้หนี้ครบทุกมิติ 360 องศา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีศูนย์รวมข้อมูลกลาง เพื่อให้เห็นข้อมูลลูกหนี้ครบทุกมิติมากขึ้น
สำหรับข้อเสนอในการแก้หนี้ เพื่อแก้หนี้ ทั้งหนี้ซ้ำซาก แก้หนี้เดิม หนี้ค้างชำระ อาจต้องมีมาตรการที่เข้าถึงลูกหนี้ และแก้ไขหนี้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และควรมีมาตรการแก้หนี้แบบผ่อนปรนในช่วง 2 ปีนี้ (ปี2566-2567) เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาสามารถแก้ไขหนี้ได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมถึงอาจต้องมีการปรับเกณฑ์ เรื่องการพิสูจน์รายได้ให้แบงก์พิจารณาความสามารถลูกหนี้เองได้