ทำสัญญาเช่า ซื้อขาย กู้ยืม ต้องติด 'อากรแสตมป์' ให้ถูกต้อง

'อากรแสตมป์' สำคัญอย่างไร? ใช้ตอนไหน ราคาเท่าไร และใครต้องเป็นคนจ่าย

ทำความเข้าใจ "อากรแสตมป์" สำคัญอย่างไร? ทราบหรือไม่ ในทุกการให้เช่า ซื้อขาย หรือกู้ยืม หากมีการ "ทำสัญญา" เพื่อให้มีผลในทางกฎหมาย ต้อง "ติดอากรแสตมป์" ด้วยทุกครั้ง

ไม่ว่าใครที่มีการเช่า ซื้อขาย หรือกู้ยืม ต้องมีการ "ทำสัญญา" เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งเอกสารในการทำสัญญาก็จะต้องติดอากรแสตมป์ด้วยทุกครั้ง หรือภาษาทางการเรียกว่า “ตราสาร

  • 28 ลักษณะ "ตราสาร" ที่ต้องติดอากรแสตมป์

สำหรับการทำสัญญา หรือภาษาทางการเรียกว่า “ตราสาร” เพื่อให้มีผลทางกฎหมายนั้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะตราสาร ที่กฎหมายบังคับให้ต้องติดอากรแสตมป์ ดังนี้

1.เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ

2.โอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ พันธบัตรและใบรับรองหนี้ ซึ่งบริษัท สมาคม คณะบุคคลหรือองค์การใดๆ เป็นผู้ออก

3.เช่าซื้อทรัพย์สิน

4.จ้างทำของ

5.กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร

6.กรมธรรม์ประกันภัย

7.ใบมอบอำนาจ

8.ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติ

9.ตั๋วแลกเงินหรือตราสารทำนอวเดียวกับที่ใช้อ่างตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารทำนองเดียวกับที่ใช้อย่างตั๋วสัญญาใช้เงิน

10.บิลออฟเลดิง

11.ใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ หรือใบรับรองหนี้ของบริษัท สมาคม คณะบุคคล หรือองค์การใดๆ และพันธบัตรของรัฐบาลใดๆ ที่ขายในประเทศไทย

12.เช็ค หรือหนังสือคำสั่งใดๆ ซึ่งใช้แทนเช็ค

13.ใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย

14.เลตเตอร์ออฟเครดิต

15.เช็คสำหรับผู้เดินทาง

16.ใบรับรอง

17.ค้ำประกัน

18.จำนำ

19.ใบรับของคลังสินค้า

20.คำสั่งให้ส่งมอบของ

21.ตัวแทน

22.คำชี้ขาดของอนุญาโตลาการ

23.คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร

24.หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน

25.ข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน

26.ข้อบังคับใหม่หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิหรือข้อบังคับของบริษัทจำกัด ซึ่งเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ส่งต่อนายทะเบียน

27.หนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน

28.ใบรับ

โดยเอกสารทั้งหมดนี้ ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดคร่อมด้วย จึงจะถือว่าเป็นเอกสารสัญญาที่สมบูรณ์

  • ใครมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์บ้าง

สำหรับเอกสารสัญญาที่มีการจัดทำขึ้น ต้องติดอากรแสตมป์ด้วยทุกครั้ง ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียอากรแสตมป์นี้จะประกอบไปด้วย

1.บุคคลที่ระบุไว้ในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์

2.ถ้าตราสารทำขึ้นนอกประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ทรงตราสารคนแรกในประเทศเป็นผู้เสียอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น ถ้าหากไม่ได้ปฏิบัติตามความข้างต้น ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งต้องเสียอากรแล้ว จึงยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอนหรือถือเอาประโยชน์ได้

ผู้ทรงตราสารคนใด ได้ตราสารความข้างต้นไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น จะเป็นผู้เสียอากรก็ได้โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อนๆ

3.ตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงิน ไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรและใช้สิทธิไล่เบี้ยจากผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้

4.ผู้มีหน้าที่เสียอากร ตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อาจตกลงให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นผู้เสียอากรแทนตนก็ได้ เว้นแต่กรณีตามข้อ 2

  • อัตราอากรแสตมป์

ผู้จัดทำเอกสารสัญญาจะต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทสัญญาที่ทำ เช่น

- เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า มีการจัดทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ติดอากรแสตมป์ ในอัตราภาษี คือมูลค่าสัญญาเช่า 1,000 บาท ติดอากรแสตมป์ 1 บาท

- การจ้างทำของ ยกเว้นสัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นไม่ได้ทำในประเทศไทย ผู้รับจ้างมีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้

- กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของเงิน 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืม ค่าอากรตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท

โดยสามารถตรวจสอบอัตราอากรแสตมป์ได้จากบัญชีอัตราอากรแสตมป์

  • วิธีการเสียภาษีอากรแสตมป์

1.แสตมป์ปิดทับ ปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสาร

2.แสตมป์ดุน ใช้กระดาษมีแสตมป์ หรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงิน

3.ชำระเป็นตัวเงิน ใช้แบบของและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย และให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

พร้อมกับทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์ เพื่อไม่ให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยหากเป็นกรณีแสตมป์ปิดทับ ได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษ และลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย

ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน ให้แสตมป์ปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น

สรุป

ทั้งนี้ กรณีใครได้มีการเสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียว สามารถส่งคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร และหากอธิบดีเห็นว่าเสียเกินไปจริงก็จะคืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปแก่ผู้เสียอากร

แต่ในทางกลับกัน หากเอกสารสัญญาหรือตราสารใดไม่ปิดแสตมป์และขีดฆ่าอากรให้สมบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอัตราในบัญชีท้ายหมวดอากรแสตมป์ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ยังมีสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากร

 

----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting