ฮั่วเซ่งเฮงชี้เทคโนโลยีหนุนธุรกิจซื้อขายทองคำพุ่ง

ฮั่วเซ่งเฮงชี้เทคโนโลยีหนุนธุรกิจซื้อขายทองคำพุ่ง

ฮั่วเซ่งเฮงชี้เทคโนโลยีหนุนธุรกิจซื้อขายทองคำพุ่ง และ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสออมเงินผ่านการลงทุนในทองคำอีกด้วย

นายธนรัตน์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮงกล่าวในหัวข้อ Digital Next 2025 : Embracing Change and Challenges with Cloud Strategy ระบุ การนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบคลาวด์ ระบบเพย์เมนท์ และระบบการยืนยันตัวตน มาช่วยในเรื่องการซื้อขายและการลงทุน เป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจร้านขายทองมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปมาก โดยนับตั้งแต่บริษัทนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ทำให้เราสามารถพัฒนาการให้บริการที่สะดวกและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการธุรกิจสอดคล้องกับกระแสโลกดิจิทัลที่ส่งผลต่อคำสั่งในการซื้อขายที่รวดเร็ว และทำให้ราคาในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

เขากล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยธุรกิจเราได้มาก ทำให้เราสามารถให้บริหารงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้สะดวกและประหยัดในเรื่องคน และเรื่องของความยุ่งยากในการจัดการ เมื่อธุรกิจของบริษัทมีการเติบโต ลูกค้าก็จะวิ่งมาเรามากขึ้น โดยนอกเหนือจากงานบริการหน้าร้านแล้ว เรายังมีงานบริการหลังบ้านที่ต้องมีความมั่นใจว่าระบบเราสามารถรองรับได้ ซึ่งการบริหารจัดการระบบหลังบ้านก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย

“พอเวลาเรายิ่งโต ส่วนใหญ่เขาก็จะมาหาเจ้าหลัก งานเราก็จะยิ่งเยอะ งานหน้าบ้านและหลังบ้านเราใช้คลาวด์มาช่วย แต่ธุรกิจผมที่ปวดหัวมากกว่าลูกค้าหน้าบ้าน คือ งานหลังบ้าน ที่จริงคือคนชอบถามว่าพรุ่งนี้ทองคำจะขึ้นหรือลง ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ตัวเราเอง ก็ต้องบริหาร ถ้าทองลง ลูกค้ามาซื้อ เราก็ต้องเตรียมทอง ถ้าทองขึ้นเราต้องเตรียมเงิน เพราะฉะนั้น ทรานเซกชั่นที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ โอเปอร์เรชั่นหลังบ้านที่ต้อง Make sure ว่าทำงานได้ถูกต้องตามพอร์ตลงทุนของลูกค้า ซึ่งการซื้อการขายต้องเคลียร์พอร์ตให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเป็นเรื่องการบริหารจัดการที่ท้าทาย”

สำหรับเรื่องของการสต๊อกสินค้านั้น ถ้ามองไปถึงเรื่องของฝั่งที่เป็นการผลิต มันเป็นวงจรที่ค่อนข้างลำบากนิดนึง เพราะว่า ลูกค้ามาซื้อทอง เงินที่รับมา ก็นำไปซื้อทองในต่างประเทศ กว่าทองจะเข้ามาวันสองวันขึ้นอยู่กับเขามีสต๊อก ซึ่งเป็นขั้นตอนในการบริหารเงินให้คุ้มต้นทุนด้วยว่า ผลิตได้ทันหรือไม่ผลิตมากจนเกินไป จนมีสต๊อกที่มีเงินที่จมอยู่ในสินทรัพย์ที่เป็นทองมากไป ก็จะไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการ

“อีกอันหนึ่งที่เราพยายามจะใช้เดตาในการทำเซ็กเม้นท์ให้มาก เราดูอย่างสมัยก่อนเราซื้อทองแท่ง เราต้องซื้อขั้นต่ำแท่งละ 5 บาท ตอนนี้ก็เป็นมูลค่าแสนห้า ขึ้นไป ก็จะยากกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ หลายปีที่ผ่านเราออกให้มีการออมทอง โดยขั้นต่ำให้ออมได้ตั้งแต่ 1000 บาท ทำให้เข้าถึงรากหญ้าพอสมควรในการเก็บทอง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ต้องตัดทองเป็นชิ้นเล็กๆ เก็บไว้ให้พอลูกค้าสะสมครบก็เข้ามารับเอาเป็นแท่งใหญ่ ทำให้เรามีกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่นักลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนที่ออมสะสม และมีทราฟฟิกที่มากขึ้น เป็นส่วนที่ทำให้เราขยายธุรกิจไปได้จากการใช้เทคโนโลยี กับข้อมูล”

เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ เรากำลังมองไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานความเป็นธุรกิจเทรดทองให้มั่นคงในอนาคต นอกจากนี้ เรายังมีบริษัทที่สิงคโปร์ที่เราให้บริการซื้อขายทองในต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ลูกค้าในคนไทย โดยในไทยเราให้บริการกับลูกค้าทั่วไป แต่ที่สิงค์โปร์เป็นลูกค้าโฮเซล และมีการส่งมอบกับร้านค้าที่เหมือนกับบ้านเรา แต่แทนที่เขาจะซื้อกับแบงก์ เขาก็มาซื้อกับเรา เราก็จัดส่งให้ออฟฟิศเขา ฉะนั้น การที่เราต้องใช้คราวน์มีประโยชน์มากกับธุรกิจผมในต่างประเทศมาก เพราะจริงๆ ในต่างประเทศมีลูกค้าน้อยแต่ระบบซื้อขายอยู่บนคราว์ เจ้าหน้าที่ด้านไอทีจากประเทศไทยเป็นคนดูแลระบบ โดยที่บริษัทแทบไม่ได้ใช้ทีมงานเลย

“ยิ่งผ่านโควิดมา คนต่างชาติปรับตัวยิ่งไปกว่านั้นอีก เพราะลูกค้าเขาวางหลักประกันไว้ เขาส่งคำสั่งในระบบ พอเจ้าหน้าที่เห็นออเดอร์เข้าระบบ พอเห็นเงินทรานซิสเข้าบัญชี ก็สั่งออเดอร์จากมือถือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ขนส่ง ส่งสินค้าไปต่างประเทศเลย แทบไม่ต้องใช้คนจริงๆ ในการดูแล”