EXIM BANKจับมือกรมการค้าตปท.และปปง.ร่วมป้องกันส่งออกอาวุธทำลายล้างสูง
EXIM BANK ลงนาม กรมการค้าตปท.- ปปง. ร่วมป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หลังไทยได้รับการประเมินแนวทางป้องกันอยู่ในระดับต่ำ ชี้ความร่วมมือจะยกระดับแนวทางการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พร้อมรับการประเมินอีกครั้งปี 69
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารฯได้ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติถึงแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของไทยตามเจตนารมย์ของข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากรายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทําลายล้างสูง (Anti-Money Laundering, Combating the Financing of Terrorism and the Proliferation of Weapons of Mass Destruction : AML/CFT/WMD) ของประเทศไทยในปี 2560 ระบุว่า ประเทศไทยได้รับผลการประเมินด้านประสิทธิผลเรื่องการกำกับ ตรวจสอบ และการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน WMD ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับผลการประเมินด้านดังกล่าวซึ่งจะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น
“ในปี 60 ไทยได้รับผลการประเมินประสิทธิผลเรื่องการกำกับ ตรวจสอบ และการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาคการค้า การส่งออกสินค้าของไทยในอนาคต จึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับแนวทางการกำกับดูแลของไทยให้ดีขึ้นจากความร่วมมือดังกล่าว”
ในการนี้ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะร่วมมืออย่างมีบูรณาการกับ คต. และ ปปง. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยให้กำหนดและดำเนินตามนโยบายและคู่มือการปฏิบัติงานด้าน AML/CFT/WMD อย่างเคร่งครัด โดยตระหนักถึงภัยร้ายแรงของปัญหาดังกล่าว มีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรที่ชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติจริง
รวมทั้งทบทวนและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เนื่องจาก ปัจจุบันอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมีปริมาณลดลงและกำลังถูกแทนที่ด้วยอาวุธทันสมัยที่ดัดแปลงมาจากสิ่งที่พลเรือนใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การควบคุมอาวุธระหว่างประเทศถูกรวมเข้ากับการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ นานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมและป้องกันการนำเอาวัสดุที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพมาใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายมากขึ้น
อาทิ การนำส่วนประกอบของปุ๋ยมาใช้เป็นวัตถุในการผลิตระเบิด การใช้แก๊สบางชนิดในการก่อวินาศกรรม และการนำเอาวัสดุไทเทเนียมในหัวไม้กอล์ฟมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ทำให้การดำเนินธุรกิจและภารกิจขององค์กรนำไปสู่การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลกโดยรวมอย่างแท้จริง
“ในอนาคตทั่วโลกจะควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ซึ่งสามารถดัดแปลงมาจากสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไปเป็นอาวุธร้ายแรงมากขึ้น อาทิ การนำส่วนประกอบของปุ๋ยมาใช้เป็นวัตถุในการผลิตระเบิด การใช้แก๊สบางชนิดในการก่อวินาศกรรม และการนำเอาวัสดุไทเทเนียมในหัวไม้กอล์ฟมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ เป็นต้น ดังนั้น ธนาคารจะเร่งเสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมกับเข้มงวดการสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนสร้างแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรที่ชัดเจนและนำไปสู่การปฏิบัติจริง”
ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยยกกระดับมาตรการป้องกันฯ ของไทยให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งทางด้านสินค้าและการเงิน รวมถึงช่วยยกระดับผลการประเมินมาตรฐานสากลของไทยในการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธร้ายแรง ในปี 69 ให้ดีขึ้น
“ต่อไปทั่วโลกมีสิทธิ์จะนำข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธที่มีอนุภาพทำลายล้างสูงมาใช้เพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง เช่น เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ วงจรไฟฟ้า อาหาร ที่อาจถูกนำไปใช้ผลิตอาวุธร้ายแรงได้ ซึ่งหากใครไม่ปรับตัวจะมีผลกระทบต่อต้นทุนและการส่งออกตามมา ดังนั้น กรมฯจึงได้เร่งให้ความรู้การสร้างระบบตรวจสอบ และมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการล่วงหน้าให้สามารถปรับตัวรับมือกับอนาคตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ”