คลังแนะแบงก์แก้หนี้ยั่งยืนผ่านการลดภาระหนี้
คลังแนะแนวทางแก้ไขหนี้ยั่งยืน ชี้แบงก์รัฐและเอกชนควรปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วยการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่าการยืดหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ระบุ แนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนนั้น ทางสถาบันการเงินควรใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วยการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่าการยืดหนี้
“มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น สศค.สนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการนี้ถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วย”
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะปานกลางของกระทรวงการคลังนั้น นอกจากการสร้างความรู้ให้กับประชาชนแล้ว ยังได้จัดมหกรรมแก้ไขหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินร่วมกันช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้มาขอให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหา 4.13 แสนราย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ยังได้ร่วมกันจัดทำสัญญาที่เป็นธรรมของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนประเภทหนึ่ง โดยสาระสำคัญของประกาศครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มี 3 ประเภทได้แก่ 1.รถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี 2.รถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และ 3.รถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายการลดหนี้ครัวเรือนของไทยให้เหลือ 80 % ของจีดีพี โดยกำหนดแนวทางการลดภาระหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้รายย่อยมีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ( Risk -Based-Pricing) ,การผลักดันกฎหมายช่วยลูกหนี้ให้สามารถฟื้นฟูหนี้ หรือเข้าสู่กระบวนการขอล้มละลายโดยสมัครใจ ,รวมถึง การกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ( Responsible Lending) เช่นไม่โฆษณาเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมเงินเกินตัว หรือกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม เป็นต้น
ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.90 % ของจีดีพีหากพิจารณาในเชิงโครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทย จะพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่ เป็นไปเพื่อสะสมความมั่งคั่งโดยการซื้อทรัพย์สินและเพื่อการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพื่อซื้อทรัพย์สิน ได้แก่ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มีสัดส่วน 35.1% เพื่อซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ 12.0% ซึ่งรถยนต์และจักรยานยนต์ยังสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพสร้างรายได้อีกด้วย เช่น รถแท็กซี่ จักรยานยนต์เพื่อส่งสินค้า และยังมีการก่อหนี้เพื่อการประกอบอาชีพโดยตรงอีก 17.9%
ดังนั้น เมื่อรวมหนี้เพื่อสะสมทรัพย์สินและเพื่อการประกอบอาชีพแล้วจะมีสัดส่วนในโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยถึงกว่า 65.0% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดนอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนประมาณ 47.1% หรือเกือบครึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน รถ สะท้อนว่า ครัวเรือนก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินไม่ใช่เพื่อการบริโภค
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้จัดทำรายงานสภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ โดยได้รายงานภาพรวม NPL ของหนี้ครัวเรือนของไทย ณ ไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วอยู่ที่ 2.62 % ของสินเชื่อคงค้าง อย่างไรก็ตาม หากมองถึงแนวโน้มของการเป็น NPL โดยพิจารณาจากสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ ( SML) ซึ่งขาดการผ่อนชำระค่างวดแต่ยังไม่เกิน 90 วัน พบว่า สินเชื่อยานยนต์ที่เป็น SML สูงสุด อยู่ที่ 13.7 % ของสินเชื่อรวม