การท่องเที่ยวจีนเริ่มฟื้น ความหวังเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง
ตัวเลขการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยงในจีน เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวกที่สะท้อนการจับจ่ายภายในประเทศ รวมถึงเป็นความหวังต่อเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023
ปี 2023 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าว ตามมาด้วยความคาดหวังจากทั่วโลกว่า เศรษฐกิจจีน จะเริ่มฟื้นตัวจากภายในออกสู่ภายนอกประเทศ โดยในช่วงไตรมาสแรก จีนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมาย ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสบรรลุเป้าหมาย GDP ปี 2023 ที่ 5% โดยมองว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนให้จีนบรรลุเป้าหมายได้คือ การท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการบริโภคของชาวจีนได้เป็นอย่างดี โดยตั้งแต่ต้นปี การท่องเที่ยวจีน เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น และคาดว่ามีโอกาสที่โมเมนตัมของการฟื้นตัวจะดีต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง
จำนวนครั้งการเดินทางและรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ฟื้นตัวชัดนับตั้งแต่ต้นปี
นับตั้งแต่ต้นปี ประเทศจีนมีวันหยุดสำคัญไปแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ เทศกาลตรุษจีนเดือน ม.ค. เทศกาลเช็งเม้ง เดือน เม.ย. วันหยุดเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เดือน พ.ค. และเทศกาลไหว้บะจ่าง เดือน มิ.ย. โดยหากพิจารณาจากข้อมูลเดือนล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวเเละวัฒนธรรมของจีน พบว่าจำนวนครั้งของการเดินทางและรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2019 (ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด) โดยเฉพาะวันหยุดเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติในเดือน พ.ค. ที่จำนวนครั้งของการเดินทางฟื้นตัวขึ้นมาเป็น 119% และรายได้จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นมาเป็น 101% ซึ่งมากกว่าช่วงปี 2019 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยว บ่งชี้ว่า ชาวจีนยังไม่กลับมาใช้จ่ายได้เท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาด สะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบในช่วงล็อกดาวน์ที่ประชากรจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องออกจากตลาดแรงงาน และยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลจีนไม่ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจทางตรงโดยการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเหมือนกับทางฝั่งสหรัฐ จึงทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคใช้ระยะเวลาที่มากกว่า
จำนวนครั้งการเดินทางและรายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละเทศกาลของประเทศจีน เทียบกับปี 2019
เทศกาลไหว้พระจันทร์และวันชาติจีน (Golden Week) ที่มาพร้อมมาตรการกระตุ้นการบริโภค คือความหวังของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง
หากมองไปในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าประชาชนจะเริ่มกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หนุนจากการที่ภาครัฐขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยในปี 2022 พบว่า มีปริมาณเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 80% YoY สะท้อนว่าชาวจีนมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด แต่ยังไม่ค่อยนำเงินออกมาใช้จ่าย
ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2023 จะมีวันหยุดเทศกาล วันไหว้พระจันทร์ (29 ก.ย.) และ วันชาติจีน (29 ก.ย.- 6 ต.ค.) ซึ่งในปีนี้จะเป็นการหยุด 8 วันต่อเนื่องกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว วันชาติจีนถือเป็นเทศกาลที่มีจำนวนครั้งของการเดินทางมากที่สุด โดยในปี 2019 มีจำนวนการเดินทางมากถึง 782 ล้านครั้ง ขณะที่ปี 2022 มีจำนวนครั้งการเดินทางลดลงมาเหลือเพียง 422 ล้านครั้งเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาจากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลในครึ่งปีแรกที่ฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2019 ทำให้คาดหวังว่าวันหยุดยาวในช่วงที่เหลือของปี การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมในการประชุม Politburo ช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้
จำนวนครั้งการเดินทางในแต่ละเทศกาลของประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2019-2022
ภายหลังจากมีการประกาศเปิดประเทศ ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เจาะจงไปที่การบริโภค มีเพียงมาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินที่เพิ่งจะเริ่มทำอย่างจริงจังในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งอาจจะเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม ที่จะมาพร้อมกับวันหยุดยาวครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปี และจะช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของ GDP (ข้อมูลปี 2019) ให้กลับมามีบทบาทและช่วยหนุนการเติบโตของ GDP จีน ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 5% ในปีนี้
ที่มา : Goldman Sachs ,Huatai Research
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือ แอปพลิเคชัน TISCO My Funds