26ปี ‘ต้มยำกุ้ง’ บทเรียนไทยที่จะไม่ซ้ำรอยเดิม
ครบ26 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของไทย ‘สุรพล’ชี้ ไทยในอดีตไม่มีข้อมูลเครดิต ลูกหนี้แบกหนี้เกินตัวลามเกิดวิกฤติ ‘ปิติ’ เชื่อโอกาส ไทยกลับไปซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งเป็น 0 % ‘อมรเทพ’ แนะระวังวิกฤติรูปแบบใหม่ จากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพนาน
26ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 2 ก.ค. 2540 ถือเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จากการประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศ มีผู้คนตกงานจำนวนมาก
ขณะที่ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลงจากวิกฤติครั้งนี้ จนต้องยื่นมือ ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบวิกฤติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ จาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง การเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศ จากการเปิดเสรีทางการเงิน พึ่งพาทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น ที่มีถึง 65%ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์
ขณะที่ทุนสำรองทางการของไทยอยูระดับต่ำมาก โดยประเทศไทย สมัยนั้นยังไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ที่สำคัญ ประเทศไทยยังลงทุนเกินตัว จนเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการเข้าไปเก็งกำไรในภาคอสังหาฯจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ส่งผลให้รัฐบาลต้องสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินรวมกันถึง 58แห่ง จากปัญหาการขาดสภาพคล่องรุนแรง และปัญหาหนี้เสียที่สูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ที่ 52.3% ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์
สุดท้ายมาจาก ความไม่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินนโยบาย จากการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี และยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ บวกกับการไม่มีมาตรฐานกำกับสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และสุดท้ายจากการถูกโจมตีค่าเงินบาท (currency attack)
เหล่านี้นำมาสู่ วิกฤติที่สร้าง “แผลเป็น”ครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจไทย ธุรกิจไทย และประเทศไทยจนยากที่จะลืมได้
‘สุรพล โอภาสเสถียร’ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพราะ ก่อนปี 2540 ระบบสถาบันการเงินของไทย ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า ระบบข้อมูลเครดิต ,บัญชีที่เป็นมาตรฐานของระบบสถาบันการเงิน ,การกำหนดว่าบัญชีใดมีลักษณะเป็นหนี้เสีย(NPLs)
สิ่งที่เรียกว่าระบบการป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบธรรมาภิบาล ยังไม่ถูกนำมากำหนดให้ถือปฎิบัติ ที่สำคัญคือในการให้สินเชื่อ สถาบันการเงินที่ระดมเงินมาจากประชาชนจะไม่ทราบแน่ชัดว่า
1.ตัวลูกค้าผู้ขอกู้ หรือลูกค้าที่ได้สินเชื่อไปแล้วมีหนี้กับสถาบันการเงินการเงินอื่นๆอีกเท่าใด ลูกค้าหรือลูกหนี้มีนิสัยใจคอในการชำระหนี้เป็นอย่างไร มีประวัติการชำระหนี้ดีเพียงพอที่จะได้สินเชื่อเพิ่มหรือไม่ สถาบันการเงินจะรู้เพียงแต่ว่าชำระหนี้กับตนเองดีหรือไม่ดี เรียกได้ว่า "รู้เราแต่ไม่รู้เขา"
2.จุดเสี่ยงนี้ได้ขยายผล,ขยายแผล ซ่อนอยู่มาพอสมควร ประกอบกับมีการกู้เงินในลักษณะ BIBF เอามาเก็งกำไร
ผลคือลูกหนี้แบกหนี้เกินตัว หมุนไปหมุนมา จนวันหนึ่งประเทศเราลดค่าเงินบาท ทุกสิ่งอย่างจึงปะทุขึ้นมา ลองคิดภาพว่า คนไปถอนเงินแต่สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องจนให้ถอนไม่ได้ เพราะแบกรับหนี้เสีย 47บาทจากการให้สินเชื่อทุก 100บาท
3.ความหมายที่แท้จริงของระบบนี้คือ ป้องกันผู้ฝากเงินไม่ให้เสียหาย จากการที่คนกลางหรือสถาบันการเงินขาดข้อมูลคนที่มาขอกู้นั่นเอง
ทุกวันนี้ที่เราคุมความเสี่ยงกันได้ระดับหนึ่งก็เพราะชุดข้อมูลนี้ แต่ขนาดมีชุดข้อมูลนี้ เรายังก่อหนี้กัน 16ล้านล้านบาท ที่เรียกว่าหนี้ครัวเรือน ถ้าไม่มีชุดข้อมูลนี้ เราคงไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในทะเลการเงิน ทะเลหนี้สิน หาทิศหาทางเข้าฝั่งไม่เจอเป็นแน่!
“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เชื่อว่า เมืองไทยจะไม่กลับไปเหมือนวิกฤติปี 40 แน่นอน เพราะหากดูความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยวันนี้ ถือว่าแข็งแกร่งมาก อดีต ธปท.กำหนดเงินกองทุนขั้นที่1ของสถาบันการเงินอยู่ที่ 4.25% แต่ปัจจุบันกำหนดอยู่ที่ 15% ซึ่งมากกว่า 4 เท่าหากเทียบกับอดีต
ขณะเดียวกัน การเข้าไปกำกับ “หนี้เสีย”เข้มงวดขึ้นมาก วันนี้ไม่ได้นับเฉพาะคนที่ค้างชำระเกิน 90วัน ที่ต้องเป็นหนี้เสียเท่านั้น แต่หากลูกหนี้มีอาการ ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสีย ให้นับกลุ่มนี้ เข้าไปรวมอยู่ในกลุ่ม “หนี้เสีย”แล้ว
ดังนั้นการนับลูกหนี้ดี ไม่ดี เข้มขึ้นมาก ดังนั้นทั้งการ ตั้งสำรองหนี้เสียอย่างเข้มงวด รัดกุมมากขึ้น รวมถึงการจัดชั้นลูกหนี้ เหล่านี้ทำให้โอกาสที่สถาบันการเงินไทย จะกลับไปเผชิญวิกฤติเหมือนปี 40 แทบ 0%
อีกทั้งธปท.ยังมีการทำ ผลทดสองภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test กับแบงก์ทุกระดับชั้น ไม่เว้นแม้แต่แบงก์เล็กๆ ไม่เหมือนต่างประเทศที่ประสบปัญหาแบงก์ล้มในปัจจุบัน เพราะเลือกทำ Stress Test เฉพาะธนาคารใหญ่ๆ ระดับบนเท่านั้น สะท้อนการกำกับที่เข้มข้นขึ้นมาก
“ยุคก่อนต้มยำกุ้ง การกำกับสถาบันการเงินไทย เลวร้ายกว่านี้เยอะมาก วันนี้เมืองไทย มาไกลพอสมควรในการกำกับดูแลกิจการ ไม่ใช่อยู่แบงก์แล้วพูดแบบนี้ แต่วันนี้การกำกับเรื่องพวกนี้ จากทางการจากธปท.เข้มขึ้นมาก การกำกับหนี้เสีย เพิ่มขึ้นกว่าล้านเท่า การให้แบงก์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างดุเดือด ทำให้วันนี้ไทยมีสำรองสูงสุดในเอเชียดังนั้นเรื่องนี้ไม่ต้องห่วงแบงก์ไทยแข็งแรงมาก”
“อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย นักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของไทย เชื่อว่า ประเทศไทย คงไม่กลับไปซ้ำรอย “วิกฤติต้มยำกุ้ง”
วิกฤติต้มยำกุ้งในอดีตมาจากการบริหารนโยบายการเงินที่ผิดพลาด การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน และใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปจนหมด แต่เราก็เห็นพัฒนาและความการระมัดระวัง นำไปสู่การ สะสมทุนสำรองที่มากขึ้น สามารถครอบคลุมหนี้ระยะสั้น และการนำเข้าได้จำนวนมาก
ทำให้หลายครั้ง ประเทศไทย รอดจากวิกฤติมากได้ โดยเฉพาะวิกฤติจากต่างประเทศ ที่ก่อนหน้า เงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่รุนแรง เงินบาทอ่อนค่า จนทางการต้องใช้ทุนสำรองดูแลค่าเงินบาท ทำให้เงินสำรองของไทยลดลงไปมาก แต่ไทยยังรอดจากวิกฤติจากต่างประเทศมาได้
แต่ให้ระวังวิกฤติรูปแบบใหม่ เพราะ วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบไปเสมอ ปัจจุบันเราปิดช่องโหว่จากทุนสำรอง และอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความเข้มแข็งด้านต่างประเทศค่อนข้างมาก
ในทางกลับกัน ประเทศกลับอ่อนแอ เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย จากการดำเนินนโยบายการเงิน ที่วันนี้ประเทศไทย เผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก มีคนเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ขณะที่แบงก์เริ่มเข้มการปล่อยสินเชื่อ
และแม้ อัตราดอกเบี้ยของไทย วันนี้อยู่ที่ระดับ 2% ต่ำสุดในภูมิภาค แต่ไม่ได้จูงใจ ให้คนกลับมาใช้จ่ายหรือลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทย โตต่ำมาก และต่ำเป็นเวลานาน
สิ่งที่ มองคือ การควบคุมเงินเฟ้อด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่มีประสิทธิภาพมากเหมือนในอดีต
ดังนั้น เป็นห่วง ว่าเราอาจเจอวิกฤติรูปแบบใหม่ ที่เกิดจาก การที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลานาน และนโยบายการเงินกลับไม่สามารถ ดูแลทั้งเงินเฟ้อ และไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเหนือศักยภาพได้!