เอสเอ็มอีแบงก์หวั่นหนี้เสียตกชั้น3หมื่นล้าน
เอสเอ็มอีแบงก์หวั่นหนี้เสียกำลังตกชั้น 3 หมื่นล้านบาท คาด 2 พันล้านบาทเป็นหนี้เสียในครึ่งหลังของปีนี้ จัดทีมมอนิเตอร์เพื่อควบคุมด่วน ขณะที่ ทยอยกันสำรองส่วนเกินรองรับเดือนละ 100 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งปีตั้งเป้า 7 หมื่นล้านบาท
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์)เปิดเผยว่า ในในช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารได้เติมทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องไปราว 1.58 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ปี 63 จำนวน4.2 หมื่นล้านบาท ปี 64 จำนวน 4.8 หมื่นล้านบาท และ ปี 65 จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ได้กลายเป็นลูกหนี้ที่กำลังจะมีปัญหาราว 3 หมื่นล้านบาท
“ใน 3 หมื่นล้านบาทนี้ มีหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนหรือชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่ายอยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และที่น่ากังวลจริงๆจะมีอยู่ประมาณ 2 พันล้านบาท ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งจะไปต่อไม่ได้ในครึ่งหลังของปีนี้ เราก็กังวล แบงก์ชาติก็กังวล ธุรกิจที่มีปัญหานั้น เฉลี่ยประมาณ 2 พันราย ซึ่งกระจายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในพอร์ตสินเชื่อของเราส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง”
ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นหนี้เสียที่เกิดก่อนปี 58 อยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3-4 พันล้านบาท เป็นหนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่ ฉะนั้น ถือว่า หลังจากที่ธนาคารออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว มีหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นใหม่ในหลักพันล้านบาทเท่านั้น
“ถือว่า หลังออกจากแผนฟื้นฟู เรามีหนี้เสียเพิ่มในหลักพันล้านเท่านั้น จากที่ปล่อยประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ว่า ถามว่า เราจะรู้สึกดีไหม ก็ไม่ เพราะเอสเอ็มอียังอ่อนแอ ซึ่งเราจะต้องประคับประคองต่อไป”
สำหรับภาพรวมการปล่อยสินเชื่อครึ่งแรกของปีนี้นั้น ถือว่า ดีกว่าครึ่งแรกของปีก่อนเล็กน้อย โดยยอดปล่อยอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งปี เราคาดว่า จะปล่อยได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ปล่อยได้ 6.8 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อที่ปล่อยใหม่นั้น ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่ได้เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ซึ่งเราอยากเห็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากกว่านี้ ก็คาดว่า หากการเมืองมีความชัดเจน การลงทุนใหม่จะดีขึ้น
“ตามปกติแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของปี ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่จะไม่ค่อยดีนัก ส่วนใหญ่จะมากๆในช่วงปลายปี ยิ่งในปีนี้ การเมืองยังไม่ชัดเจน การลงทุนใหม่จะไม่มาก ยกตัวอย่าง ถ้านโยบายค่าแรงมา ผู้ประกอบการก็ต้องคิดและปรับแผนการลงทุนใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี เราจึงปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง เราต้องบริหารสภาพคล่องเขาให้ดี เพื่อไม่ให้สายป่านเขาสะดุด ไม่เช่นนั้น ธุรกิจเขาจะมีปัญหา”
ส่วนภาพรวมผลประกอบการนั้น ธนาคารมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 5 เดือน ดีกว่าปีก่อน แต่หลังจากหักสำรองแล้ว กำไรจะน้อยกว่าปีก่อน เพราะปีก่อน เราเอาสำรองส่วนเกินใส่ไปในเดือน 6 กับ 12 แต่ปีนี้เราใกล้ที่จะใช้มาตรฐานบัญชีปี 68 ฉะนั้น เราก็เปลี่ยน โดยใส่เงินทุกเดือนหักกำไรเข้าเลยเดือนละ 100 ล้านบาท เพื่อบังคับตัวเองว่า เราใส่ 1,200 ล้านบาทแน่ๆ ถ้ามีกำไรมากกว่านี้ก็จะเติมเข้าไป เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเห็นว่า มีความตั้งใจ จะได้สบายใจ และไม่เป็นภาระ ส่วนพนักงานเองก็รู้แล้วว่า เหลือจริงๆเท่าไหร่ ถ้าเหลือน้อยก็ขยันมากขึ้น โดย 5 เดือนกำไรประมาณสุทธิ 300 ล้านบาท ปีก่อนเรามีกำไรราว 800-900 ล้านบาท
เธอกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ทางธนาคารได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อลูกค้าที่เข้ามาปิดบัญชีกับธนาคารเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ลูกค้าต้องการ ส่วนใหญ่ตอบว่า อยากให้มีการรวมหนี้ไว้ที่เดียว เพื่อลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการหนี้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากต่อการจัดการ โดยในส่วนของธนาคารนั้นไม่สามารถรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้บางประเภทได้ เช่น หนี้บ้าน และหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น
////////////////