หนี้คงค้าง ทั่วโลก นิวไฮ แซงช่วง Coivd หวั่น ปีหน้า ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดยอดกู้หด

หนี้คงค้าง ทั่วโลก นิวไฮ แซงช่วง Coivd หวั่น ปีหน้า ดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดยอดกู้หด

“Janus Henderson Investors” บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกสัญชาติอังกฤษ - อเมริกัน เผยยอดหนี้สินใหม่สุทธิของบรรดาบริษัททั่วโลกพุ่งแตะ 4.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564/65 ดัน “ยอดหนี้คงค้าง” ทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

Key Points

  •  “Janus Henderson Investors” เผย ยอดหนี้สินใหม่สุทธิของบรรดาบริษัททั่วโลกพุ่งแตะ 4.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564/65
  • “ยอดหนี้คงค้าง” ทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แซงหน้าช่วงโควิด-19
  • ด้าน Verizon ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสหรัฐ มีหนี้มากที่สุดในปี 2565/66
  • กูรูกังวล ปีหน้า สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำ “ความต้องการกู้ยืม” ของบรรดาบริษัทเอกชนลดลง

สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานล่าสุดว่า ปริมาณหนี้สินใหม่สุทธิของบรรดาบริษัททั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะ 4.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564/65 ส่งผลให้ “ยอดหนี้คงค้าง” ของบริษัททั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของหลายประเทศทำให้ความต้องการกู้ยืมเงินใหม่ในอนาคตลดลง

โดย เจนัส เฮนเดอร์สัน อินเวสเตอร์ส (Janus Henderson Investors) บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับดัชนีมูลหนี้ของบริษัทเอกชน (Corporate Debt Index) ประจำปี 2566 ว่า ปริมาณหนี้สินใหม่สุทธิ ของบริษัททั่วโลกในปี 2564/65 ทำให้ยอดหนี้สุทธิคงค้างเพิ่มขึ้น 6.2% มาอยู่ที่ 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าจุดสูงสุดก่อนหน้าในปี 2563/2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวซึ่งติดตามบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจดทะเบียน 933 แห่งทั่วโลก พบว่า เวอร์ไรซอน (Verizon) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสหรัฐ มีหนี้มากที่สุดในปี 2565/66 ขณะที่อัลฟาเบต(Alphabet Inc) เจ้าของกูเกิล (Google) ครองตำแหน่งบริษัทที่มีกระแสเงินสดมากที่สุดในบรรดาบริษัทในดัชนีฯ ที่น่าสนใจคือ อัลฟาเบต และเมตา (Meta) เจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) สร้างมูลหนี้มากถึง 1 ใน 5 ของหนี้สุทธิที่เพิ่มขึ้น

โดย เจมส์ บริกส์ (James Briggs) ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนสำหรับตราสารหนี้ของ เจนัส เฮนเดอร์สัน ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) กว่า 310,500 ล้านดอลลาร์ ระบุว่า ปริมาณมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในระดับที่ “ไม่น่ากังวล”

“แม้ขณะนี้คุณภาพสินเชื่อขององค์กรต่างๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดคุณภาพลงในอนาคต ซึ่งอัตราการลดลงขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและภาคบริการในสหรัฐ” 

 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าว เปิดเผยแนวโน้มว่า สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ “ความต้องการกู้ยืม” ของบรรดาบริษัทเอกชนลดลง โดยคาดว่าหนี้สุทธิจะลดลง 1.9% ในปี 2566/67 มาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7.65 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี บริษัทในสหรัฐ ล้วนพึ่งพิง “พันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่” เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ดังนั้นก็ยังนับว่าได้รับการปกป้องจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่ ซึ่งต่างจากบรรดาบริษัทในยุโรปที่ส่วนใหญ่หาเงินทุนจากธนาคารที่คิด “อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว” ทำให้บรรดาบริษัทเหล่านั้นเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่สุดในรอบทศวรรษ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์