คลังสอบความเสียหายเอ็กซิมปล่อยกู้ร่วม”สตาร์ค”

คลังสอบความเสียหายเอ็กซิมปล่อยกู้ร่วม”สตาร์ค”

คลังเผยกำลังตรวจสอบเอ็กซิมกรณีปล่อยกู้สตาร์คสร้างความเสียหายแค่ไหน เบื้องต้น แบงก์ชาติสั่งสำรอง100%เพื่อรองรับความเสียหายแล้ว แนะก.ล.ต.ตั้งหน่วยพิเศษเกาะติดบจ.แต่งบัญชี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)เกี่ยวกับการปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ สตาร์ค STARKให้ทราบแล้ว ซึ่งทางเอ็กซิมแบงก์ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการปล่อยกู้ให้กับสตาร์คโดยตรง แต่เป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัท  เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสายเคเบิล ก่อนที่สตาร์คจะเข้าไปซื้อหุ้น และนำบริษัทดังกล่าวกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  

“ได้มอบมายให้เอ็กซิมแบงก์ติดตามในรายละเอียด แล้วนำมารายงานความคืบหน้า รวมถึงให้ชี้แจงต่อไป ซึ่งท่าที่ทราบสินเชื่อของเอ็กซิมแบงก์เป็นการปล่อยกู้แบบสินเชื่อร่วม หรือซินดิเคท โลน โดยเอ็กซิมแบงก์เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น และไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เรื่องนี้ต้องไปดูในรายละเอียดและเงื่อนไขการปล่อยกู้ร่วม รวมถึงแนวทางการดำเนินการต่อไป”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ ได้สั่งการให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องการปล่อยกู้ให้กับสตาร์ค  ไปดำเนินการตั้งสำรองเงินเพื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้ง100 % แล้ว โดยกรณีดังกล่าวกระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งให้คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.​) ไปตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึง จัดตั้งหน่วยงานพิเศษ เพื่อติดตามบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กรณีแต่งบัญชี    

“เราไม่ได้นิ่งดูดายกรณีดังกล่าว  ฉะนั้น ต้องไปตรวจสอบรายละเอียดว่า ใครเป็นคนเสนอเรื่อง ใครเป็นซีเอฟโอ และฝ่ายการเงิน เพื่อดูที่มาที่ไปของการปล่อยกู้ ส่วนเรื่องนักลงทุน ถือว่าเป็นความเสี่ยง ที่นักลงทุนต้องตรวจให้ดี เพราะการลงทุนความเสี่ยง กระทรวงการคลัง ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด”

ทั้งนี้ ในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมานั้น ทางตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.จะรู้ก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมาถึงคลัง ดังนั้น จึงอยากให้ไปดูว่า ควรจะมีการตั้งหน่วยพิเศษขึ้นมาเพื่อติดตามบริษัทจดทะเบียนที่มีการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึง การตกแต่งบัญชี โดยให้เกาะติดแบบเรียลไทม์ 

“ยกตัวอย่าง กรณีกรมภาษี เช่น กรมศุล หรือ กรมสรรพสามิตก็มีหน่วยปราบปรามขึ้นมาดูผู้ที่กระทำความผิด แต่เราก็ยังมีหน่วยพิเศษที่มาช่วยเกาะติดอีกทางหนึ่ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบ ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น แม้ที่ตลาดหลักทรัพย์จะมีหน่วยตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ก็ไม่พอและไม่ทันการ จึงน่าจะมีการเพิ่มหน่วยพิเศษขึ้นมาดู ทำงานลักษณะเป็นฝ่ายบู๊ คู่กับฝ่ายวิชาการ เพื่อให้ดูแลทันต่อสถานการณ์กว่าที่เป็นอยู่”

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เบื้องต้นมี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เป็นผู้ปล่อยกู้ โดยเป็นการปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในส่วนของเอ็กซิมมีการปล่อยกู้กว่าพันล้าน แต่เป็นการปล่อยกู้ตั้งแต่ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสตาร์ค ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ในส่วนเอ็กซิแบงก์ จะเข้าไปร่วมทำแผนแก้หนี้ร่วมกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายอื่น โดยหากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่มีการโหวตแผนเป็นอย่างไร เอ็กซิมแบงก์ก็พร้อมปฏิบัติตาม