สรรพากรคาดออกกฎหมายคุมคืนภาษีปลอมธุรกิจเหล็กต้นปีหน้า
สรรพากรคาดออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำระบบการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง หรือ Reverse Charge VAT มาใช้กับธุรกิจค้าเหล็กต้นปีหน้า เพื่อป้องกันการทุจริตขอคืนภาษี เผยกว่าครึ่งหนึ่งของใบกำกับภาษีปลอมมาจากธุรกิจดังกล่าว
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากร คาดว่า ภายในเดือน ม.ค.ปีหน้า จะสามารถนำระบบ Reverse Charge VAT มาใช้กับธุรกิจรับซื้อเศษเหล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจดังกล่าว โดยกรมฯจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้ ซึ่งจะกำหนดให้ธุรกิจโรงหลอมเหล็ก เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อและขายด้วยตัวเอง และเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมฯ
ทั้งนี้ ในระบบการค้าขาย (eco system) ของธุรกิจค้าเศษเหล็กนั้น ธุรกิจโรงหลอมเหล็กถือเป็นคนซื้อสุดท้ายของธุรกิจ โดยในระบบการค้าธุรกิจค้าเหล็ก จะเริ่มจากผู้รับซื้อเศษเหล็กรายย่อย เช่น คนที่ขี่รถซาเล้ง ออกไปรับซื้อเศษเหล็กตามบ้าน เพื่อมานำส่งขายให้กับผู้รวบรวมเศษเหล็ก ซึ่งมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จากนั้นผู้รวบรวมเศษเหล็ก ก็ขายเศษเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก เพื่อแปรรูปเหล็กนำกลับมาใช้อีกครั้ง
“ปัจจุบันภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย ดังนั้น เมื่อบริษัทผู้รวบรวมเหล็กขายเหล็กให้กับโรงหลอมเหล็ก บริษัทต้องออกใบกำกับภาษีขายให้กับโรงหลอม ทำให้ผู้ขายทำหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่ในอัตรา 7% อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะกำหนดให้ธุรกิจโรงหลอมเหล็ก เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขาย แทนธุรกิจผู้รวบรวมเศษเหล็ก”
สำหรับสาเหตุที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาการปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจนี้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อหวังขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าปกติ และมีทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจปลอมใบกำกับภาษี
“เรามีคดีที่เกี่ยวกับการโกงใบกำกับภาษีในธุรกิจค้าเหล็กเยอะ เราก็ตรวจเข้ม ก็ไปดูจะทำอย่างไร ได้ทางออกมาแล้ว คือ ระบบภาษีมูลค่า มีกลไกหนึ่งที่เรียกว่า Reverse Charge หรือ การตรวจสอบย้อนหลัง ถ้าเราเชื่อมั่นในการทำธุรกิจขนาดใหญ่ของเขา เขาสามารถทำหน้าที่ทั้งภาษีขายและภาษีซื้อได้ทั้งสองขา เรากำลังดำเนินการด้านกฎหมาย และคุยกับผู้ประกอบการแล้ว เขาก็เห็นด้วย”
เขากล่าวว่า กว่าครึ่งหนึ่งของใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปลอม มาจากธุรกิจค้าเศษเหล็ก ซึ่งปัญหาเรื่องใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างอย่างนาน ทำให้กรมฯต้องใช้บุคคลกากรของกรมตรวจสอบการขอคืนอย่างเข้มงวดเนื่องจาก เป็นเรื่องที่กรมฯยอมรับไม่ได้ กับการนำใบกำกับภาษีปลอมมายื่นขอคืนภาษี และกระทบต่อธุรกิจที่ดี ที่อาจได้รับใบกำกับภาษีปลอม จากธุรกิจที่ขายสินค้าให้กัน ทำให้ธุรกิจที่ดีเหล่านั้นต้องถูกกรมสรรพากรตรวจสอบไปด้วย
“ระบบ Reverse Charge VAT เป็นระบบที่หลายประเทศได้นำมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่อาจมีความยุ่งยากในการออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม จนถึงปิดรูรั่วไหลของการการออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบ”
ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกตินั้น ธุรกิจเมื่อมีการขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้า จะต้องออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า โดยบวกภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยเรียกว่าภาษีขาย ส่วนใบกำกับภาษีของผู้ซื้อ เรียกว่า ภาษีซื้อ ซึ่งกรณีผู้ซื้อเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย เพื่อคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ธุรกิจต้องจ่าย ซึ่งหากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายธุรกิจสามารถขอคืนภาษีได้
การให้ธุรกิจโรงหลอมเหล็ก ซึ่งถือเป็นผู้ซื้อทอดสุดท้าย ของธุรกิจค้าเศษเหล็ก ซึ่ง eco system ของธุรกิจนี้มีผู้ค้าเศษเหล็กตั้งรายเล็กจนถึงรายใหญ่ เป็นจำนวนมาก และมีทั้งเป็นผู้ค้าที่อยู่ในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีผู้ค้าที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้โรงหลอมเหล็กออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนผู้ค้าเศษเหล็กที่นำเศษเหล็กมาขายให้ จะทำให้ระบบการตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก โรงหลอมเหล็กเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และมีจำนวนไม่มาก
ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นรายได้สำคัญของกรมสรรพากรและของรัฐบาล โดยภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 42.94 % ของรายได้ของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บภาษีได้รวม 2.166 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 9.30 แสนล้านบาท สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2565 ถึง พ.ค.2566 )กรมสรรพากร เก็บภาษีได้รวม1.304 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.13 แสนล้านบาท