ปิดฉาก ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ดอลลาร์กำลังจะอ่อนค่า?
หากผลการประชุมของ “เฟด” เป็นไปตามการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ทั่วโลกว่าอาจจะมีการ “ขึ้นดอกเบี้ย” ครั้งสุดท้าย ทำให้ประเทศไทยต้องตั้งคำถามว่าพร้อมรับมือกับยุคแข็งค่าของเงินบาทและภาวะผันผวนของตลาดการเงินโลกแล้วหรือยัง
นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักจากทั่วโลกมองตรงกันว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะรู้ผลในเช้าวันพรุ่งนี้ (27ก.ค.) ตามเวลาประเทศไทย เฟด น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.5% แต่จะเป็นการขึ้น “ครั้งสุดท้าย” เพราะเงินเฟ้อซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวของสหรัฐที่ก็ชะลอตัวลงชัดเจนเช่นกัน เท่ากับว่าวัฏจักร “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว
ในขณะที่ตลาดการลงทุนเริ่มมองข้ามไปอีกช็อต โดยประเมินว่า “เงินดอลลาร์” ก็น่าจะใกล้สิ้นสุด “ยุคกระทิง” เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าดัชนีเงินดอลลาร์ทยอยร่วงลงจนมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 1 ปี ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเทศมองต่อไปว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงต่อเนื่องถ้า เฟด ยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และขาลงของเงินดอลลาร์อาจจะกินเวลาอีกยาวนาน ถ้าในอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแรงจน เฟด ต้องเริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
แน่นอนว่านับจากนี้ไป “ตลาดการเงินโลก” จะยังเผชิญกับความปั่นป่วน แต่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับช่วงที่ผ่านมา โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ย่อมส่งผลกระทบต่อสกุลเงินอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น จะสังเกตว่าเวลานี้สกุลเงินหลายๆ สกุลเริ่มเห็นสัญญาณของการแข็งค่าขึ้นบ้างแล้ว ซึ่งรวมถึงเงินบาทไทยด้วย
ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้เราจะเห็นเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าชัดเจนมากขึ้น แม้จะยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเงินบาทช่วงต้นเดือน ก.ค. ยังคงเคลื่อนไหวในระดับ 35 บาทกว่าๆ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและร่วงลงไปต่ำกว่าระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะรีบาวนด์ขึ้นมาเล็กน้อย ปัจจัยหลักๆ มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นั่นเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้นถือว่าสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นเมื่อเงินดอลลาร์ซึ่งกำลังสิ้นสุดยุคกระทิง และอาจกำลังเข้าสู่ภาวะหมี นั่นหมายความว่าเงินดอลลาร์มีสัญญาณของการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ผลกระทบย่อมเกิดกับสกุลเงินอื่นแบบเต็มๆ รวมถึงเงินบาทด้วย เราจึงต้องกลับมาถามตัวเองว่า พร้อมหรือยังหากเงินบาทจะกลับสู่ “ยุคแข็งค่า” ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังโรยราจากปัญหาการเมือง แถมการส่งออกก็ยังอยู่ในภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ไร้แรงส่งทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามนี่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ด้านการเงิน ซึ่งเรายังต้องติดตามผลการประชุมของ เฟด และสัญญาณที่ส่งออกมา ซึ่งจะรู้ผลในเช้าวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้นค่อยกลับมาดูว่า เราจะรับมือกับภาวะตลาดเงินที่จะเข้าสู่ยุคแห่งความผันผวนอย่างไรดี!