BAM ชงบอร์ดขอวงเงิน ซื้อ‘หนี้เสีย’5-7พันล้าน
BAM เตรียมชงบอร์ด ส.ค.นี้ขอวงเงินซื้อหนี้เสีย 5-7 พันล้าน หลังสถาบันการเงินหลายรายให้เข้าร่วมประมูลหนี้ ดันพอร์ตสิ้นปีนี้แตะ 1.5 หมื่นล้าน ทะลุเป้าเดิมที่ตั้งไว้ “หมื่นล้าน” พร้อมเล็งขยายธุรกิจในอาเซียน ส่วนแผนร่วมทุนแบงก์ตั้ง “เอเอ็มซี”อยู่ระหว่างศึกษา
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ช่วงต้นเดือนส.ค.นี้ บริษัทมีแผนเสนอบอร์ดขอวงเงินลงทุน เพื่อซื้อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL) มูลค่าไม่เกิน 5,000-7,000 ล้านบาท เนื่องจาก บริษัทได้รับเชิญจากสถาบันการเงินหลายแห่งให้เข้าไปร่วมประมูลหนี้เสียร่วมมูลค่า 30,000-40,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สอดคล้องกับแนวโน้มหนี้เสียในช่วงที่เหลือของปีนี้ ที่คาดมีทิศทางเพิ่มขึ้น เมื่อหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของธปท.ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนุนให้เป้าหมายในการซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารของบริษัทไปสู่เป้าหมายใหม่ที่วางไว้ 15,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ราว 10,000 ล้านบาท
โดยบริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในCLMV หลังจากมีสถาบันการเงินในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหารือ ในการจัดการหนี้เสียที่มีอยู่ ทำให้บริษัทเห็นแนวทางในการต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ แต่การขยายการลงทุนในต่างประเทศ อาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากจำเป็นต้องศึกษากฏหมายของแต่ละประเทศให้ชัดเจนก่อนขยายการลงทุน ซึ่งช่องทางทำธุรกิจเป็นไปได้ทั้ง ธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย บริหารหนี้ ที่ปรึกษาธุรกิจ รวมถึงการตั้งบริษัทร่วมทุน(JV)ในอนาคต
“ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการแจ้งถึงแผนงานดังกล่าวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ธปท. เรียบร้อยแล้ว ทางผู้ถือหุ้นใหญ่เห็นดีกับแนวทางดังกล่าว เพียงแต่ให้เราศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ”
นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารหนี้เสีย( JV AMC) กับสถาบันการเงินในไทย ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา เนื่องจากต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้นไม่ต้องเร่งรีบเพราะจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนผลประกอบการในปีนี้ ยืนยันว่าจะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารทั้งหนี้เสีย และสินทรัพย์รอการขาย(NPA) ต่อเนื่อง แม้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกอาจไม่ได้ดีมากเมื่อเทียบกับครึ่งปี 2565 เพราะปีที่ผ่านมามีทรัพย์ก้อนใหญ่ที่ได้ราคาค่อนข้างดี แต่หากตัดก้อนดังกล่าวออก จะพบว่าผลการดำเนินงานของบริษัทถือว่าเติบโตดีมากอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับผลดำเนิงานไตรมาส 1 ปี 2566 BAM มีรายได้ 2,687.18 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 266.56 ล้านบาท ส่วนปี 2565 มีรายได้รวม 12,780.63 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,724.76 ล้านบาท