นักลงทุนสถาบันไทย ยังกังวลครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกทรงตัว - ถดถอย

นักลงทุนสถาบันไทย ยังกังวลครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกทรงตัว - ถดถอย

AIMC เผยผลสำรวจมุมมอง 'ผู้ลงทุนสถาบันไทย' ครึ่งปีหลัง ยังคงกังวลเศรษฐกิจโลกคาดทรงตัว - ถดถอยลง แต่มองบวกเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา กองทุนเน้นน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น - กลาง หุ้นขนาดใหญ่กลุ่มท่องเที่ยว - แบงก์ - ค้าปลีก - บริการทางการแพทย์ - เทคโนโลยีฯ

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies – AIMC) เปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนสถาบันไทยต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการลงทุน และมุมมองการจัดน้ำหนักการลงทุนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

โดยในภาพรวมมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศภายหลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ยังคงกังวลในเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะทรงตัวหรือถดถอยลงได้บ้าง 

นางชวินดา หาญรัตนกูล  นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกบริษัทจัดการลงทุนในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมาต่อมุมมองการลงทุนในช่วงหลังของการเลือกตั้งและในระยะเวลาอีก 1 ปีข้างหน้า  สรุปได้ว่า “ทีมผู้จัดการกองทุนไทยส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Growth) จะเป็นปัจจัยบวกที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนในประเทศ นอกจากนั้นการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง  จึงคาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเล็กน้อย ไปอยู่ที่ระดับ 2.25% ณ สิ้นปี 2566  (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนแปลงล่าสุด ณ 31 พ.ค. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2) ซึ่งเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาจากปัญหาเงินเฟ้อควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพ

 

ส่วนของการจัดน้ำหนักการลงทุนในประเทศนั้น ทีมผู้จัดการกองทุนเน้นให้น้ำหนักการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นถึงปานกลาง

ส่วนการลงทุนในตราสารทุนจะมีมุมมองเป็นกลางค่อนไปในทางลบ เน้นลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) เท่านั้น กลุ่มอุตสาหกรรมในดวงใจคือ กลุ่มท่องเที่ยวสันทนาการ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มการค้าพาณิชย์ กลุ่มบริการทางการแพทย์และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกมีมุมมองเป็นกลาง โดยเน้นการลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น

ส่วนใหญ่เชื่อว่าในภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวหรือชะลอตัวลงเช่นเดียวกับการสำรวจมุมมองครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่วนใหญ่ชะลอตัวลง

ทางผู้จัดการกองทุนยังเชื่อว่าด้วยมาตรการดอกเบี้ยนั้น อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ทยอยลดระดับลงได้ในระยะถัดไป รวมทั้งเศรษฐกิจโลกน่าจะได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะปรับตัวได้ดีขึ้นระยะข้างหน้า

สำหรับการจัดน้ำหนักการลงทุนทั่วโลกยังคงเชื่อว่าผลกระทบของเศรษฐกิจโลกไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ทีมผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเป็นกลางค่อนข้างไปในทางบวก

ในขณะที่มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ทั่วโลกมีมุมมองภาพรวมเชิงบวก โดยให้น้ำหนักไปที่ตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

ส่วนการลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) โดยกรณีลงทุนจะเน้นลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ (large Cap) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่

สำหรับประเทศที่น่าสนใจลงทุนในหุ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคทั้งสินค้าพื้นฐาน และฟุ่มเฟือย กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มบริการทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น

ในส่วนของสินทรัพย์การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกยังคงให้น้ำหนักปานกลางถึงน้อยลง โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน และน้ำมันดิบ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจ

สำหรับการสำรวจมุมมองผู้ลงทุนสถาบันไทยโดย AIMC นั้น มุ่งหวังให้ผลสำรวจนี้เป็นแนวทางหลักคิดด้านการออมและลงทุน และช่วยให้ภาพรวมในการจัดแบ่งเงินลงทุน เพื่อที่ภาคธุรกิจ ผู้ลงทุน และประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ และสามารถสร้างความยั่งยืนผ่านเงินลงทุนของกิจการหรือของตนเองได้ต่อไป

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์