ธปท. ห่วงจัดตั้งรัฐบาลช้าลากยาว กระทบลงทุน-ความเชื่อมั่น
ธปท.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย หวั่นผลกระทบเศรษฐกิจโลกผันผวน ตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าฉุดการเบิกจ่ายรัฐบาลและความเชื่อมั่นนักลงทุน ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์การเมืองปัจจุบันยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้จากเดิมคาดว่าตั้งรัฐบาลได้ภายใน ส.ค.2566 ซึ่งอาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2566 รวมถึงปี 2567
และไม่เพียงเท่านั้นภายใต้สุญญากาศที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนใหม่ในระยะข้างหน้าด้วย
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย
1.เศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง
2.การจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าอยู่ที่ล่าช้ามากน้อยแค่ไหน เพราะหากล่าช้าออกไปมากอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้
3.ผลของค่าครองชีพที่อยู่ระดับสูงที่อาจกระทบต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น
“ผลกระทบทางการเมืองที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเป็นสิ่งที่ ธปท.เทคความเสี่ยงไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบภาครัฐที่ล่าช้า แต่ผลเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลว่าช้าแค่ไหน ซึ่งหากลากยาวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นได้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับภาพส่งออกในเดือน ก.ค.2566 คาดว่ายังอยู่ในทิศทางติดลบเช่นเดียวกันที่ผ่านมา แต่คาดว่าการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ ในช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ยอมรับว่าภาพรวมการส่งออกอาจชะลอตัวลง หากเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามภาพรวมอื่นๆ รวมถึงตัวเลขทางการจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีกครั้ง
ก.ค.เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นต่อ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาที่ 2.24 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและหากมองไปข้างหน้าพบว่าท่องเที่ยวต่างชาติยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้นจากการจองตั๋วเครื่องบิน และการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเดือน มิ.ย.2566 อ่อนคงลงตามการอ่อนค่าของเงินหยวน จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนกว่าที่คาด รวมถึงมีปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่ากว่าสกุลเงินในภูมิภาค แต่เดือน ก.ค.เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นจากการลดการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา จากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ก.ค.เชื่อว่ายังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของท่องเที่ยวและภาคบริการ