หลอกลงทุนออนไลน์

หลอกลงทุนออนไลน์

กลโกง "ออนไลน์" ที่เหล่ามิจฉาชีพใช้จะพบเห็นได้ง่ายใน social media ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและยังปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้รูปถ่ายของบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่วมกับโลโก้ของบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ รวมถึงการใช้โลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต.

ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีทำให้เราสามารถทำแทบทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้ว โดยเฉพาะในเรื่องการเงินการลงทุนที่แทบทุกอย่างมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งแต่ธุรกรรมทางการเงิน เช่น การโอนเงิน การชำระค่าสินค้าบริการ จนไปถึงด้านการลงทุน ทั้งการศึกษาข้อมูล การเปิดบัญชี หรือเวลาเทรดจริงก็สามารถทำได้ออนไลน์ ซึ่งความง่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าหรือเข้าไปยังธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ ก็ทำให้เหล่ามิจฉาชีพหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้แฝงตัวเข้ามาเพื่อหลอกลวงให้คนทั่วไปเสียทรัพย์สินในหลากหลายรูปแบบ โดยจากข้อมูลคดีออนไลน์ที่แจ้งผ่าน www.thaipoliceonline.com พบว่าการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์เป็นกลโกงออนไลน์ที่สร้างมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดในบรรดาทุกกลโกง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีคดีร้องเรียนหลอกลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์สูงถึง 22,740 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 10,948 ล้านบาท 

กลโกงออนไลน์ที่เหล่ามิจฉาชีพใช้จะพบเห็นได้ง่ายใน social media ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและยังปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้รูปถ่ายของบุคคลที่มีชื่อเสียง ร่วมกับโลโก้ของบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ รวมถึงการใช้โลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนหรือเทรดหุ้นโดยอ้างว่าสามารถสร้างผลตอบแทนสูง ซึ่งส่วนมากจะสูงเกินจริงหรือมีการรับประกันผลตอบแทน เช่น ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% ต่อเดือนหรือต่อสัปดาห์

และเมื่อหากสนใจคลิกเข้าไปในโฆษณาดังกล่าวก็จะให้ติดต่อทาง Facebook Messenger หรือ Line ซึ่งเจ้าหน้าที่ปลอมจะพยายามสร้างความน่าเชื่อถือโดยอาจจะมีการส่งบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่พร้อมรหัสพนักงานปลอมหรือใบอนุญาตปลอมเพื่อให้เหยื่อไว้ใจ

นอกจากนี้ ยังพบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่หลอกให้ลงทุนออนไลน์โดยนำโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ TFEX หรือโบรกเกอร์มาใช้ อีกทั้งยังตั้งชื่อเว็บไซต์หรือเพจใกล้เคียงของจริงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ การหลอกลวงในลักษณะต่างๆ เหล่านี้ โดยมากเมื่อเหยื่อโอนเงินไปแล้วในช่วงต้นอาจได้รับเงินคืนบ้าง แต่เมื่อลงทุนเพิ่ม มักจะไม่สามารถถอนเงินออกได้ 

ดังนั้น หากถูกชักชวนให้ลงทุนออนไลน์ ขอให้ท่านผู้อ่านลองฉุกใจคิดสักนิดว่าผลตอบแทนที่โฆษณาบอกว่าจะได้นั้น เป็นไปได้จริงหรือไม่ ดีเกินจริงหรือไม่ อย่างน้อยควรหาข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการว่าผลตอบแทนจากดัชนีหรือหุ้นที่ถูกชวนลงทุนในอดีตอยู่ที่ประมาณปีละกี่เปอร์เซ็นต์ อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจโอนเงิน แต่ควรเช็คให้ชัวร์ว่าไม่ใช่การหลอกลงทุน 

นอกจากนี้ เพื่อระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลงทุน ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ ข้อแรก ตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และ TFEX ไม่มีนโยบายเชิญชวนให้โอนเงินมาลงทุนโดยตรงกับ SET และ TFEX ในทุกช่องทาง การลงทุนใน SET และ TFEX จะต้องเปิดบัญชีลงทุนกับโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อเจ้าหน้าที่ และชื่อโบรกเกอร์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ www.sec.or.th ผู้ลงทุนไม่ควรส่งข้อมูลส่วนตัวให้บุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือโดยเด็ดขาด 

ข้อสอง “ไม่โอนเงินลงทุนเข้าบัญชีบุคคล” การโอนเงินเข้าบัญชีซื้อขายจะต้องโอนเข้าบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น สุดท้าย ผู้ลงทุนควรระมัดระวังไม่ซื้อขายผ่าน Link ใดๆ หรือดาวน์โหลดโปรแกรมที่ไม่น่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นเฟซบุ๊กเพจ ก็อาจต้องสังเกตเบื้องต้นว่าเป็นเพจปลอมหรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีเพจปลอมมากมาย แม้แต่การปลอมเพจของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยในกรณีเฟซบุ๊กเพจของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้สังเกตว่า เพจปลอมจะไม่มีเครื่องหมายถูกในวงกลมสีน้ำเงิน (Verified Badge) หลังชื่อเพจ จำนวนยอด Like น้อย เช่น หลักร้อย หลักพัน ขณะที่เพจจริงของตลาดหลักทรัพย์ฯ ชื่อ SET Thailand มียอด Like ประมาณ 1.3 ล้าน หรือ TFEX Station มียอด Like ประมาณ 1 แสน และข้อมูลการติดต่อของเพจปลอมมักจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องและติดต่อได้จริง เป็นต้น ที่สำคัญในกรณีที่เจอเพจปลอมควรรีพอร์ทเพจปลอมบน social media นั้นทันที หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจไซเบอร์ (โทร. 1441) ศูนย์บริการประชาชนสำนักงาน ก.ล.ต. (โทร. 1207) หรือ SET Contact Center (โทร. 0 2009 9999) นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีตัวอย่างเพจปลอมและแนะนำจุดสังเกตเพจปลอม ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มได้ที่ https://www.set.or.th