กูรูชี้ ‘เงินเฟ้อ’ ต่ำคาด แนะ กนง. หยุดขึ้นดอกเบี้ย

กูรูชี้ ‘เงินเฟ้อ’ ต่ำคาด  แนะ กนง. หยุดขึ้นดอกเบี้ย

นักเศรษฐศาสตร์ มองเงินเฟ้อเดือนก.ค.โตต่ำต่อเนื่อง สะท้อนไร้แรงส่งผ่านต้นทุน ย้ำหากเทียบดอกเบี้ยนโยบายถือว่า Over Tighten เกินไป พร้อมแนะ กนง. หยุดขึ้นดอกเบี้ยรอดูสถานการณ์

      กระทรวงพาณิชย์ประกาศเงินเฟ้อเดือนก.ค.2566 สูงขึ้นเพียง 0.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอยู่ระดับต่ำกว่า 1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

       สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาเชื้อเพลิง เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้นเพียง 2.19% และเริ่มทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว

 

       ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบัน เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต้องถือว่า Over tighten เกินไป เพราะตัวเลขเงินเฟ้อปัจจุบันโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเร็วมาก

       โดยเฉลี่ยเดือนต่อเดือนอยู่เพียง 0.04% และคาดเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ระดับ 0.50% เท่านั้น ดังนั้นแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ถือว่าต่ำค่อนข้างมาก

      ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัว การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว ก็คาดการณ์ว่า เงินเฟ้ออาจไม่ได้ไปเกินระดับ 2% อีกทั้ง หากเงินเฟ้อ มาจากปัญหาเอลนีโญ ก็เชื่อว่าไม่ใช่เหตุผลหลัก ที่ กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไปดูแลเงินเฟ้อจากประเด็นดังกล่าว

      “นโยบายการเงินจริงๆ ต้องดูที่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ว่าวันนี้เป็นอย่างไร เพราะหากดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานวันนี้ต่ำที่สุดไม่ถึง 1% จากระดับเงินเฟ้อที่ขึ้นไปพีคสุดที่ 3% แต่วันนี้เหลือเพียง 0.86% หากเทียบกับปีก่อน และหากเทียบเดือนต่อเดือน ถือว่าขยับน้อยมาก เหล่านี้สะท้อนว่า Demand pull inflation ไม่มี เพราะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่ได้ดีจนขนาดที่คนจะส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้าได้ และดูเงินเฟ้อปัจจุบัน เทียบกับดอกเบี้ย ก็ถือว่า tighten เกินไปแล้ว”

      ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงิน จึงควรหยุดรอดูสถานการณ์ก่อน หากเงินเฟ้อขึ้นเหมือนอย่างที่ประเมินไว้ ค่อยขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่สายเกินไป ดังนั้นควร Wait and see ภายใต้ความเสี่ยงปัจจุบันที่มีสูงมากขึ้น

ดอกเบี้ยจบแล้วที่ 2.25%

     ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนก.ค.ที่ออกมา ขยายตัวเพียง 0.38% ถือว่าไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด ทำให้ความน่าห่วงจาก Food inflation จากราคาอาหาร ไม่ได้มีสัญญาณความน่ากังวล

    สะท้อนว่า กนง.น่าจะเบรกขึ้นดอกเบี้ยแล้วในระยะถัดไป โดยดอกเบี้ยจะจบที่ 2.25% เพราะแรงกดดันจากเงินเฟ้อแผ่วลง

     และหากดูระยะข้างหน้า จากสิ่งที่ กนง.กังวลคือ การผลักภาระต้นทุน ไปสู่ผู้บริโภคเมื่อเศรษฐกิจฟื้น ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อระยะข้างหน้าอาจเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะเกินระดับ 2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย

    ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เงินเฟ้อ แต่คือ ความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยทางการเมือง จากเศรษฐกิจจีน และการส่งออก รวมถึงหนี้ครัวเรือนในระยะข้างหน้ามากกว่า

     อย่างไรก็ตาม ที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ มาตรการภาครัฐ หลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา เช่น มาตรการขึ้นค่าแรง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่อาจเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือไม่

เงินเฟ้อต่ำไร้เหตุกดดัน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่อ

     นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากดูอัตราเงินเฟ้อที่ออกมา ถือว่าอยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน

    ดังนั้นเชื่อว่าการที่เงินเฟ้อทรงตัวระดับต่ำต่อเนื่อง จะไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย และคาดการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมา เป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะไม่สะท้อน Real demand หรือสะท้อนความต้องการซื้อมากนักในปัจจุบัน แต่ปัญหามาจาก Supply side จากอุปทาน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไปอาจไม่ได้ช่วย

      อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถือว่าปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย แม้เชื่อว่าดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะเชื่อว่ากนง.จะดูจาก Data dependent เป็นหลัก จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมา และหากเงินเฟ้อขึ้นแรงเพราะการขาดแคลนอาหารหลังจากนี้

“ส่วนตัวไม่คิดว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เชื่อว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะไม่สะท้อน Real demand เพราะปัญหามาจาก supply side ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไปคงไม่ช่วย เพราะหากเงินเฟ้อมาจาก ราคาพลังงาน หรือราคาพืชผลทางการเกษตร การขึ้นดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วย”

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์