สรรพสามิตเร่งผู้ประกอบการปรับตัวรับESG

สรรพสามิตเร่งผู้ประกอบการปรับตัวรับESG

สรรพสามิตเตือนผู้ประกอบการปรับตัวรับกระแส ESG หวั่นปัญหากีดกันทางการค้ากระทบจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะฝั่งสหภาพยุโรปที่เริ่มทดลองการใช้มาตรการปรับลดคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตออกมากล่าวเตือนผู้ประกอบการให้เร่งปรับตัว โดยให้มุ่งผลิตสินค้าตามแนวทางของ ESG ก่อนที่จะโดนกีดกันการนำเข้าจากประเทศผู้ซื้อที่ออกกติกาเรื่องESG ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเป็นหลัก

เขากล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มทดลองใช้มาตรการปรับลดคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (ซีแบม)ในสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอื่น ๆ  เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้า

“ผู้ที่ส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปในสหภาพยุโรป จะต้องผลิตสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนไม่เกินกว่าที่กำหนด หากเกินกว่าที่มาตรฐานยุโรปกำหนด ก็จะไม่สามารถนำเข้าไปขายในยุโรปได้ นอกจากนี้ สหรัฐเองก็กำลังผลักดัน กฎหมาย Clean Competition Act เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนด้วย”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย Clean Competition Act ที่ถูกผลักดันโดยวุฒิสภาของสหรัฐ จะกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า 

เขากล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ,สังคม และการมีธรรมาภิบาล กันมากขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิต อาจจะเป็นหน่วยงานแรกๆของรัฐ ที่จะขับเคลื่อนภาษีสรรพสามิต ที่อยู่บนหลักการของ ESG เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น ทิศทางนโยบายของกรมสรรพสามิตต่อจากนี้ คือ สินค้าอะไรที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะเก็บภาษีสูงขึ้นขณะที่ สินค้าที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจะลดภาษีให้ หรืออาจไม่เก็บภาษีเลยก็ได้

เขากล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวไปแล้ว คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิต สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ลงเหลือ 2 % จากเดิมอยู่ที่ 8 %  นอกจากนี้ เตรียมที่จะลดภาษีสรรพสามิต สำหรับ เอทานอล (ที่ถือเป็นพลังงานหมุนเสียนที่ผลิตได้จากพืช) ที่นำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ( Bio Plastic) แทนพลาสติกที่ผลิตจากเอทิลีนที่มาจากปิโตรเลียม โดยอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับเอทานอลที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก จะเทียบเคียงกับเอทานอลที่นำมาผสมในน้ำมัน (เป็น Gasohol) ที่เก็บในอัตรา 6 บาท/ลิตร ส่วนภาษีนำเข้า เก็บในอัตรา 80 บาท/ลิตร ซึ่งปัจจุบันกรมฯได้ยกร่างเป็นกฎกระทรวงแล้ว รอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้อนุมัติแนวทางการส่งเสริมการใช้ Bio Plastic ในประเทศไทย เพื่อกำหนดตามมาตรฐานสากล ซึ่งในส่วนของกรมสรรพสามิต  จะร่วมมือกับคณะกรรมการ BCG และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อกำหนดมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ ,การกำหนดแนวทางการผลิตพืชไม่ว่าจะเป็นอ้อยหรือมันสำปะหลัง ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึง กรณีที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จะมีแนวทางการกำหนดโควตาการนำเข้าที่ได้การลดอัตราภาษี อย่างไร

ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้รับข้อตกลงจากการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Partixes (COP26) โดยตกลงว่าภายในปี 2573 จะลดการปล่อยคาร์บอนลงจากปัจจุบัน 40 % ,ภายในปี 2593 จะทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง ( Carbon Neutral) และภายในปี 2598 การปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)