ก.ล.ต. ผนึก ADB-สบน. จัดสัมมนาให้ความรู้ภาครัฐ-เอกชน หนุนการเงินยั่งยืน
ก.ล.ต. ร่วมมือกับ ADB และ สบน. จัดงานสัมมนาให้ความรู้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “Catalyzing Green and Sustainable Finance Through Capital Markets and Other Innovative Solutions” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ในการส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
การสัมมนาครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ ภาคเอกชน ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ในการออก และเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการวางโครงสร้างทางการเงินที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโครงการ
รวมทั้งการนำเสนอกรณีศึกษาในการออก และเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนในไทย โดยมี นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวปาฐกถาเปิดงาน
ภายในงาน นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Enabling Factors: Introducing Innovative Financial Structures, Ecosystem, and Incentives to Ensure Successful Issuance” โดยกล่าวถึงบทบาทของตลาดทุนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศน์การเงินเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของ ก.ล.ต. ซึ่งครอบคลุม 6 ด้านสำคัญ
ได้แก่ (1) ผู้ระดมทุน (2) ผู้ลงทุน (3) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และผู้ทวนสอบ (4) แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (5) ความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ (6) ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ส่งเสริมบทบาทของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน และเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในการสนับสนุนการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน
โดยร่วมมือกับ ADB ในการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (technical assistance) ด้านการระดมทุน และช่วยพัฒนากรอบการออกหุ้นกู้ด้านความยั่งยืน (sustainability framework) รวมทั้ง ADB ได้ให้เงินสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ตรวจสอบภายนอก (external reviewer) แก่ผู้ออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
_________________________________