ธปท.ถอนคันเร่งขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ รับการเมืองไม่นิ่ง กดดันเงินบาทผันผวน
ผู้ว่าการ ธปท. ชี้โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินเปลี่ยน และดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้จุดสมดุล พร้อมถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย เพื่อนำไปสู่ดอกเบี้ยที่เหมาะสม ห่วงการเมืองไม่นิ่งกดดัน “เงินบาท” ผันผวนหนักเมื่อ เทียบภูมิภาค
การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมา ยังเป็นภาพของการ “ขึ้นดอกเบี้ย” อย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้นวิกฤติจากโควิด-19 และเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน
ขณะที่ กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 7 ครั้ง นับตั้งแต่ 10 ส.ค.2565 ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกที่ 0.25% จากระดับ 0.50% จนถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.25% ซึ่งเป็นระดับเหมาะสมกับระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เหตุผลที่ปรับขึ้นทุกครั้ง กนง.กังวลเรื่องของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ส่งสัญญาณถอนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ล่าสุดวานนี้ (16 ส.ค.) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2566 “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย และภาคใต้” ว่า ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันโจทย์เริ่มเปลี่ยน จากความต้องการให้ Smooth take off เกิดขึ้น ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย อย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นต้องการให้ Landing หรือการลงจอดอย่างมีเสถียรภาพ หรือ เริ่ม “ใกล้จุดสมดุล” ที่คันเร่งอยู่ถูกที่ ไม่ได้เป็นการเหยียบเบรก แต่เป็นการถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
“เป็นช่วงที่ต้องถอนคันเร่งเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุล ซึ่งจุดสมดุลดังกล่าว ก็เป็นจุดที่ดอกเบี้ยเหมาะสม และเอื้อให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า จุดที่ดอกเบี้ยเหมาะสม เอื้อให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ ซึ่งจุดนี้ ถึงแล้วหรือไม่ หรือยัง อันนี้ขอให้ดูจากผลประชุม กนง.ครั้งถัดไปหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท.เข้าใจดีว่า ผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมา ทำให้ภาระหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีกว่า เพราะหากไม่ทำ และอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นไป ภาระต่อครัวเรือนจะหนักกว่าภาระจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาก
ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน กำหนดการประชุมครั้งที่ 5/2566 ในพุธ ที่ 27 ก.ย.2566
ต้องหยุดหนี้ครัวเรือนก่อนลามเป็นวิกฤติ
สำหรับภาพหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน อยู่ระดับสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปราะบาง และหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และอยู่กับคนไทยมานาน แต่ถามว่า ถึงขั้นเป็นวิกฤติแล้วหรือไม่ ยังไม่ถึง แต่หากปล่อยไป ให้หนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง จะลามเป็นวิกฤติได้
ซึ่งตัวที่ชัดเจน คือ หนี้ครัวเรือนต่อ 90.6%ต่อจีดีพี ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก การปรับคำนิยามหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับเกณฑ์สากลในต่างประเทศ ที่อยากให้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับไม่เกิน 80% ดังนั้นต้องพยายามเอาหนี้ครัวเรือนให้ลงให้ได้ในระยะข้างหน้า
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า วันนี้เหมาะสม การจัดปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงปรับหนี้ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นคือ หากปล่อยทุกอย่างตามยถากรรม หนี้ทุกอย่างจะไม่ลง และเห็นด้วยว่าจะมีปัญหาตามมา เช่น หนี้เรื้อรัง จ่ายหนี้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ จึงเป็นที่มา ในการปรับโหมด และออกมาตรการเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนไทย
เร่งแก้หนี้เรื้อรังก่อนวิกฤติ
โดยเฉพาะการออกมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง โดยการให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 15% และให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้ได้ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการออกมาตรการช่วงนี้ เพื่อช่วยให้หนี้ครัวเรือนลดลงได้ในระยะข้างหน้า
“การออกมาตรการดูแลหนี้ครัวเรือน ต้องดูจังหวะให้เหมาะสม เช่น มาตรการที่ทำเลยปีหน้าคือ การปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ ที่จะออกในต้นปีหน้า และการดูแลหนี้เรื้อรัง ที่จะออกมาเม.ย.ปีหน้า แต่การดูศักยภาพลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้หรือ DSR อันนี้ คาดจะออกมาปี 67 เพราะมาตรการนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องดูจังหวะที่เหมาะสม เพราะมาตรการนี้เป็นการแตะเบรกพอสมควร และทุกอย่างที่เราทำ เราต้องช่างน้ำหนัก ข้อดีข้อเสียให้ดี ทำเร็วไปก็ไม่ได้”
ห่วงการเมือง กดดันเงินบาทผันผวนหนัก
สำหรับสถานการณ์ เงินบาท นอกจากนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นหากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค และผันผวนมากขึ้น หากเทียบกับอดีต ซึ่ง ธปท.ไม่อยากเห็นเงินบาทผันผวนมาก แต่ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทผันผวนมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากปัจจัยของโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และดอลลาร์
อีกทั้งยังเจอปัจจัยซ้ำเติมจาก เงินหยวน เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยง และมีความสัมพันธ์กับจีน มากที่สุดในภูมิภาค ทั้งส่งออก และการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันค่าเงินบาทยังผันผวน มาจาก ปัจจัยจากทองคำ จากการซื้อขายทองคำในประเทศ ที่สูงกว่าในภูมิภาค ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ที่ระยะหลังๆ ปัจจัยการเมืองมีผลกับค่าเงินบาทค่อนข้างมาก เมื่อเกิดความไม่แน่นอนส่งผลให้มีเงินไหลออก เพราะนักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นความชัดเจน ที่สามารถคาดการณ์ได้
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เพราะในส่วนของธปท. ก็ทำหน้าที่ของเราต่อไป ทั้งมาตรการด้านการเงิน และนโยบายการเงิน
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ไม่สวยหรู
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในปัจจุบัน ยังเป็นภาพของการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาพรวมหลักๆ ยังฟื้นตัวจาก การบริโภคภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงส่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยปีนี้ ธปท.คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาราว 29 ล้านคน แม้นักท่องเที่ยวจีน อาจไม่ได้เข้ามาตามที่คาด
ส่วนแนวโน้มจีดีพีไตรมาส 2 ที่จะออกมา อาจไม่ดีมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากส่งออกที่ อาจไม่ได้ดีเหมือนที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3%
ดังนั้นโดยรวมเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ห่วงคือ ภาคเกษตร เพราะไทยพึ่งพาเรื่องเกษตรค่อนข้างมาก และจากสถานการณ์เอลนีโญ จะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้นต่อภาคการเกษตร
เปิดรายงานประชุม กนง.ล่าสุด
ล่าสุด ธปท.เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2566 วันที่ 27 ก.ย.และ 2 ส.ค.2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ 16 ส.ค.2566 โดยคณะกรรมการ กนง.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า เพื่อให้นโยบายการเงิน และระบบการเงินมีศักยภาพเพียงพอในกรณีที่เกิดแรงกระแทกด้านลบต่อเศรษฐกิจ (shocks) ในอนาคต
โดยในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการเงินมีโอกาสน้อยที่จะสะสม policy space เนื่องจากมี shocks เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงบาง shocks มีขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้ policy space ที่สะสมไว้ ดังนั้น ภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่นโยบายการเงินควรเสริมสร้าง policy space ให้เพียงพอเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม กนง. เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวเป็นลำดับ คณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อ และการประเมินความเสี่ยงในระยะข้างหน้า (outlook dependent) ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ ต้องคำนึงว่าข้อมูลในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากปัจจัยเฉพาะหรือปัจจัยชั่วคราว การดำเนินนโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความผันผวนให้ต่อเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 2.25%
การเมืองฉุดเชื่อมั่นอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนก.ค.2566 อยู่ที่ระดับ 92.3 ลดลงจากระดับ 94.1 ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยเป็นการปรับตัวจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงในทุกองค์ประกอบ
ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ รวมทั้งผลประกอบการที่ลดลง โดยมีปัจจัยหลักๆ คือ ปัญหาที่มาจากทั้งปัจจัยในประเทศ และภายนอกประเทศ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่มีผลกระทบคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่ ธปท.รวมหนี้ใหม่สหกรณ์ และกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้ามาด้วยทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 90.6% ของจีดีพี แต่ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6% ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 110% ทำให้กดดันให้กำลังซื้อในประเทศลดลง
ขณะเดียวกัน กนง.เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ต้นทุนทางการเงินประชาชน และภาคธุรกิจสูงขึ้นรวมทั้งเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า และยังไม่เห็นความชัดเจนว่าในเดือนส.ค.นี้จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
เพราะหากไม่ทันจะกระทบไทม์ไลน์การดำเนินธุรกิจของเอกชน ที่ส่วนใหญ่ให้ไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลภายในเดือนส.ค.ในการวางแผนธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งหากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องในการทำธุรกิจ ซึ่งยิ่งช้าถือว่าไม่เกิดผลดี
ส่วนปัจจัยภายนอกเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางมาก โดยประเทศที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในเอเชีย คือเศรษฐกิจจีนถือว่ามีความเปราะบางโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีปัญหาทำให้เศรษฐกิจภายในจีนชะลอตัวลงมากระทบกับภาคการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก
รวมทั้งการส่งออกของประเทศไทยที่หดตัวกว่า 9 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกในการสำรวจความเห็นเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้รายได้ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมมีเพิ่มขึ้น ช่วยพยุงการใช้จ่ายและอุปโภค บริโภคภายในประเทศ
“ปีนี้เรื่องของภาคการส่งออกไม่ดี ที่โชคดีก็คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากในปีนี้ได้การท่องเที่ยวกลับมา 28-30 ล้านคนก็จะดีต่อสภาพเศรษฐกิจมาก ซึ่งขณะนี้ธุรกิจรายย่อยจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความกังวลอยู่มากจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และกำลังซื้อที่ลดลง”
หนุน “ผยง” ร่วมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
นายเกรียงไกร กล่าวถึงความคาดหวังเกี่ยวกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลชุดใหม่ว่าภาคเอกชนคาดหวังว่าจะได้ “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” เข้ามาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เนื่องจาก ณ วันนี้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมาก ทั้งใน และต่างประเทศสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และเป็นปัญหาที่ใหญ่ซึ่งรออยู่
ดังนั้นคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ต้องเป็น “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทุกคนที่จะต้องทำงานเป็นทีมเดียวกันอย่างใกล้ชิด
“ดรีมทีมเศรษฐกิจอยากเห็นการที่ทีมเศรษฐกิจทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน และเปิดตัวขึ้นมาต้อง “หล่อ” ให้คนที่มีความเหมาะสม ให้มีความหวังทั้งภาคประชาชน เก่ง ดี มีประสบการณ์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์