'Evergrande' ส่อ กด บาทอ่อน โฟลว์จีนหด จับตา อสังหาฯ ไทยที่กู้เงิน Non-bank  

'Evergrande' ส่อ กด บาทอ่อน โฟลว์จีนหด จับตา อสังหาฯ ไทยที่กู้เงิน Non-bank  

กูรู ฟันธง วิกฤติไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ส่อกดดันบาทอ่อน ฟันด์โฟลว์เอกชนจีนมาไทยหด รวมทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวจีนอาจไม่เข้าเป้า ชี้ ยังไม่รู้วิกฤติจะจบลงอย่างไร จี้จับตา อสังหาฯ ไทยที่กู้เงินจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร เพราะอาจเผชิญต้นทุนการเงินเพิ่มจากดอกเบี้ยขาขึ้น

Key Points

  • บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป อดีตผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาลในนครนิวยอร์ก
  • ภาคอสังหาฯ จีนเผชิญกับความกดดันรอบด้าน ทั้งจากเศรษฐกิจที่ถดถอย กำลังซื้อหด และขาดสภาพคล่อง
  • ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ มีโปรเจกต์ในพอร์ตอยู่ที่ 706 แห่ง ซึ่ง 600 กว่าโครงการยังสร้างไม่เสร็จ
  • หากเงินหยวนอ่อนค่าจากความปั่นป่วนของเศรษฐกิจจีน และภาคอสังหาฯ ซึ่งจะกระทบกับค่าเงินบาทไทยให้อ่อนค่าตามไปอย่างแน่นอน 

 

หลังจากเผชิญวิกฤติด้านการเงินอย่างหนัก จนผิดนัดชำระหนี้ในปี 2564 เมื่อวานนี้ (17 ส.ค.) บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) อดีตผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาลในนครนิวยอร์ก จากปัญหาการกู้สินเชื่อ และผิดนัดชำระหนี้ 

โดย ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายการล้มละลายในหมวดที่ 15 เพื่อเปิดให้ศาลสหรัฐเข้าไปจัดการคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีล้มละลายของประเทศอื่นได้ โดยกฎหมายในหมวดที่ 15 นี้ เปิดช่องทางให้ศาลของสหรัฐ ลูกหนี้ และศาลของประเทศต้นทาง ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายได้ 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ เริ่มผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2564 ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ตกอยู่ในความกดดันมหาศาล สำทับกับการปราบปรามของรัฐบาลที่ออกมาระบุว่า “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร” และยอดขายที่ตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้บริษัทอสังหาฯ น้อยใหญ่มากมายตกอยู่ในสภาวะ “อมหนี้” 

โดยผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีน ที่เผชิญการผิดนัดชำระ แล้วประกอบด้วย คาเซีย (Kasia), แฟนตาเซีย (Fantasia) และ ชือเหมา กรุ๊ป (Shimao Group) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่เป็นประเด็นในปัจจุบันคือ “คันทรี การ์เดน” (Country Garden) เพราะออกมาเตือนว่าอาจผิดนัดชำระผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายสิบฉบับ

โดย นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกร ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป เริ่มผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2564 โดยในช่วงต้นปี 2566 บริษัท ก็พยายามเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้จนหลายฝ่ายประเมินว่าวิกฤติของบริษัท รวมทั้งภาคอสังหาฯ อาจจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดบริษัท ก็ไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ รวมทั้งปัจจุบันก็มีข่าวว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับภาครัฐก็เริ่มมีปัญหาแล้ว จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง (Liquidity) 

“ปัญหาทั้งหมด ผสมโรงกับระบบการเงินของจีนที่พึ่งพาเงินนอกงบดุล (Off Balance Sheet) และธนาคารเงา (Shadow Banks) ที่ก็มีทีท่าว่าจะผิดนัดชำระหนี้ และความต้องการซื้อของคนในประเทศลดลง ดังนั้นผมก็ยังไม่รู้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะไปจบลงที่ไหน และก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเข้าสู่วิกฤติการเงินในจีน ที่สำคัญปัจจุบันบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ มีโปรเจกต์ในพอร์ตอยู่ที่ 706 แห่ง ซึ่งกว่า 600 กว่าโครงการยังสร้างไม่เสร็จ”

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวภาครัฐต้องออกนโยบายเพื่ออุ้ม ไม่ว่าจะเป็นอุ้มภาคอสังหาฯ หรือภาคการเงิน โดยรัฐบาลจำเป็นต้องเลือก เพราะหากเข้าไปอุ้มก็จะมีภาระหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นจนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจต้องดาวน์เกรดเครดิตประเทศลง แต่ถ้าหากไม่อุ้มก็อาจนำไปสู่วิกฤติทางการเงิน

เมื่อถามถึงผลกระทบจากการประกาศล้มละลายของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ครั้งนี้ ต่อประเทศไทย นายบุรินทร์ ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจำนวนมาก น่าจะ 5-6% นับตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับความปั่นป่วนในภาคอสังหาฯ ครั้งนี้ โดยขณะนี้ 1 ดอลลาร์แลกได้ประมาณ 7.3 หยวน ถึง 7.5 หยวน ซึ่งก็จะกระทบกับค่าเงินไทย และทำให้ความเชื่อมั่นในภูมิภาคลดลง 

โดยถ้าหยวนยังอ่อนต่อ และรัฐบาลจีนพยายามจะเข้ามาแทรกแซงอุ้มค่าเงิน รัฐบาลจีนก็ต้องขายดอลลาร์ออกมา เพื่อซื้อหยวน ค่าเงินบาทก็อาจจะร่วงลงไปด้วยเพราะสัมพันธ์กับเงินหยวนมากในช่วงปีนี้

“ตอนนี้ปัญหาที่รัฐบาลจีนเจอคล้ายๆ Perfect Storm แล้วเมื่อ 2 วันก่อนตัวเลขหนึ่งที่ทุกคนจับตามองคือ การว่างงานของเด็กจบใหม่อายุ 16-24 ปี ที่เมื่อเดือนก่อนอยู่ที่ประมาณ 21% แต่เดือนล่าสุดรัฐบาลจีนขอไม่เผยแพร่เพราะบอกว่าวิธีเก็บข้อมูลไม่ถูกต้อง ทั้งหมดทำให้หลายฝ่ายกังวลมากขึ้นเพราะคิดว่า พอเป็นข่าวไม่ดี รัฐบาลจีนอาจไม่รีพอร์ตออกมา จนอาจกลายเป็นวิกฤติความเชื่อมั่น”

นายบุรินทร์ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ความเชื่อมั่นในภาคอสังหาฯ ไม่มี คนจีนก็ไม่กล้าเข้ามาซื้อ ผู้พัฒนาฯ ก็ไม่มีเงินสร้างต่อ ดังนั้นก็ไม่รู้ว่าวิกฤติจะจบลงอย่างไร

ขณะที่ นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์จีนอาจกระทบเศรษฐกิจไทย นักท่องเที่ยวจีนอาจลดการจับจ่ายใช้สอยหรือลดการเดินทางมาประเทศไทย และอยู่ในประเทศแทน รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนจากจีนในไทยอาจปรับตัวลดลง แม้ว่าจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยจะน่าสนใจก็ตาม ทว่าบริษัทแม่ในจีนกำลังเผชิญกับวิกฤติรอบด้านอยู่ 

เมื่อถามถึงสถานการณ์ภาคอสังหาฯ ในประเทศไทย นายจิติพล ประเมินว่า สถานการณ์ในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นปีที่พึ่งผ่านการเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้น ดังนั้นกำลังซื้อยังสุขภาพดี และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีเพียงพอสำหรับธุรกิจอสังหาฯ 

แต่จุดที่น่ากังวลคือ “สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” อาจทำให้อสังหาฯ กลุ่มที่ต้องหาเงินผ่านตราสารหนี้ หรือเครื่องมืออื่นที่มากกว่าสินเชื่อจากธนาคารก็อาจต้องระวังเป็นพิเศษ และดอกเบี้ยระดับปัจจุบันถ้าธุรกิจไม่ดีจริง ค่อนข้างอยู่ยากเพราะมีต้นทุนการเงินสูงขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์