ธปท.เผย Q2 แบงก์พาณิชย์กำไรพุ่งกว่า 7.4 หมื่นล้าน
ธปท.เผย Q2 แบงก์พาณิชย์กำไรพุ่งกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท หรือ 24.7%เทียบ Q1 หนี้เสียลดลงต่ำกว่า 5 แสนล้าน คิดเป็น 2.67% ของสินเชื่อรวม จากการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง ขณะที่ หนี้ stage 2 เพิ่มเล็กน้อยมาอยู่ที่ 6.08%
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาพรวมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ว่า ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ แม้จะมีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ส่วนสินเชื่อหดตัวเล็กน้อยในรอบหลายปีที่โดยติดลบ 0.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าบวกสินเชื่อที่โอนไปบริษัทลูกจะยังขยายตัวได้ที่ 0.4%
สินเชื่อที่ขยายตัวติดลบนั้น เกิดจากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังจากเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs โดยรวม soft loan และภาครัฐ ขณะที่ ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์
“การขยายตัวของตราสารหนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เติบโต 10% แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 12.8% แต่ยังโตต่อเนื่อง ทำให้สินเชื่อของธนาคารหดตัวลงที่ 0.4% แต่ถ้าบวกกลับจากธนาคารพาณิชย์แม้มีการโอนขายธุรกิจรายย่อยลงไปในธุรกิจตัวเองจะพบว่า การขยายตัวสินเชื่อยังบวกที่ 0.4% ทั้งนี้ จะเห็นภาพธุรกิจขนาดใหญ่มีการออกตราสารหนี้เพื่อล็อกต้นทุน หลักๆ จะมาจากธุรกิจสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ พลังงาน และบริการอื่นๆ”
ทั้งนี้ เครื่องชี้วัดด้านเงินกองทุน และสภาพคล่อง พบว่า เงินกองทุนเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งออกตราสารเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งเพิ่มเติมในช่วง Q1 ทำให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 19.5% สำหรับสภาพคล่องปรับลดลงมาอยู่ที่ 188% เนื่องจาก มีการขายตราสารหนี้ที่ถือไว้ออกไป ส่วนปริมาณเงินสำรองต่อหนี้เสียยังทยอยปรับเพิ่มต่อเนื่องมาอยู่ที่ 175.6%
อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่ม holding รวมถึง สินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัย และพอร์ตส่วนบุคคลเป็นสำคัญ โดยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจจะเห็นว่า มีการหดตัวต่อเนื่องที่ 1.5% ขณะที่ สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 1.9% ทั้งนี้ หากดูสินเชื่อธุรกิจจะพบว่า ในส่วนธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท ยังขยายตัวที่ 1.1% ขณะที่ สินเชื่อเอสเอ็มอียังหดตัว เนื่องจาก สถาบันการเงินยังระวังการปล่อยสินเชื่อ
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัว ที่เห็นชัดเจนคือ สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ดี 9.5% รองลงมาคือ สินเชื่อบ้าน 2.8% ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวชะลอลงที่ 4.4% สินเชื่อรถยนต์ยังขยายตัวระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
สำหรับคุณภาพสินเชื่อนั้น ด้อยลงเล็กน้อยจากกลุ่มเปราะบางในธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กในสินเชื่ออุปโภคบริโภค แต่โดยภาพรวมของหนี้เสียปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.67% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีการขายหนี้ และตัดหนี้สูญสำหรับลูกหนี้รายย่อย
ขณะที่ สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.08% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 6.00% โดยเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งในส่วนสินเชื่อธุรกิจนั้น เกิดจากการชั้นหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่ออุปโภคนั้น มาจากสินเชื่อรถยนต์ 13.85% เป็น 14.39% ส่วนสินเชื่อประเภทอื่นมีการปรับลดลง
“หนี้เสียของสินเชื่อธุรกิจยังทรงๆ ขณะที่ หนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.68% มาอยู่ที่ 2.71% โดยหนี้เสียธุรกิจนั้น จะโตในสินเชื่อเอสเอ็มอีเล็กน้อยจากยอดหนี้ที่ลดลง ส่วนหนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคนั้น จะมาจากสินเชื่อรถยนต์ ส่วนสินเชื่อบ้าน ส่วนบุคคล หนี้เสียจะทรงๆ ใกล้เคียงไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนบัตรเครดิตหนี้เสียลดลง”
สำหรับผลการดำเนินงานนั้น ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน และเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยมีกำไรที่ 7.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% เทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝาก และ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึง ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น จากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นสำคัญ
“กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสองอยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านบาท การที่ผลประกอบการดีขึ้น เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยเพิ่ม ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็เพิ่มจากรายได้เงินปันผล แต่ต้นทุนก็เพิ่มไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และการกันสำรอง แต่ถือว่า กำไรสุทธิยังโตดี ทำให้อัตราส่วนการเงินปรับดีขึ้นทุกตัวไม่ว่าจะเป็น NIM , ROA หรือ ROE”
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น และรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ 90.6% ขณะที่ ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.8% และความสามารถในการทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากภาคการผลิต โดยต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ
ทั้งนี้ สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิดจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 ลูกหนี้ที่มีปัญหายังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สิ้นสุดเป็นเรื่องการผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น
นอกจากนี้ ธปท. จะเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำอย่างครบวงจร และถูกหลักการ ไม่เพิ่มภาระลูกหนี้ในระยะยาว โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ในปี 2567 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่ ธปท. จะดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะช่วยเสริมกันในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ให้ลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์