บทเรียนจากตลาดทุน

บทเรียนจากตลาดทุน

ในชีวิตการลงทุนของผู้ลงทุนทุกคน จะพบกับทั้งความสำเร็จ ได้กำไรบ้าง และจะมีขาดทุนบ้าง คงไม่มีใครกล้าพูดว่าไม่เคยขาดทุนจากการลงทุนในการลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารชนิดใดๆเลย และคงไม่มีใครโชคร้ายถึงขนาดที่ขาดทุนทุกรายการที่ลงทุน จนไม่เคยได้กำไรเลยในชีวิตนี้

อย่างไรก็ดี การขาดทุนบางกรณี เราสามารถ หลีกเลี่ยง หรือทำให้บรรเทาได้ ดิฉันขอนำเสนอเป็นคาถาป้องกันตัวเองในการลงทุน ดังนี้ค่ะ

ข้อที่หนึ่ง : ศึกษาให้เข้าใจสินทรัพย์หรือตราสารที่จะลงทุนทุกครั้ง ต้องย้ำว่าทุกครั้ง เพราะหากพลาดแม้แต่ครั้งเดียว มักจะเกิดแจ้คพอตขึ้นเสมอ และก็จะบาดเจ็บ ขาดทุนไป ทำให้เกิดเจ็บใจ บางคนถึงกับเจ็บไม่รู้ลืม หากเป็นการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนอื่นๆที่เป็นลักษณะรวมกันลงทุนตามที่ผู้จัดการนำมาเสนอขาย นอกจากจะต้องศึกษานโยบายการลงทุน เงื่อนไขและข้อกำหนดในการลงทุน และค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ก็ต้องศึกษาสินทรัพย์ฐานที่กองทุนเข้าไปลงทุนด้วย เช่น การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน อันดับเครดิตของตราสารที่กองทุนจะลงทุน ฯลฯ เพราะกองทุนจะส่งผ่านผลตอบแทนและความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนเสมอ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอื่น

ข้อที่สอง : ทำตัวขี้สงสัย และมองโลกให้รอบด้าน โดยเฉพาะด้านร้ายๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน แนะนำให้ทำชุดคำถามที่ต้องถามตัวเองทุกครั้ง เพื่อทบทวนให้แน่ใจว่าเราตัดสินใจรอบคอบแล้ว มีเรื่องเล่าเยอะมากค่ะ ว่าการตัดสินใจที่ผิดพลาด หลายครั้ง เกิดจากการลืมถามคำถามง่ายๆ คือเกิดการมองข้ามจุดสำคัญ อาจจะเพราะไว้ใจ วางใจ หรือเชื่อถือในคนที่แนะนำมากจนเกินไป

คำถามดีๆ ช่วยให้ดิฉันรอดพ้นจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่จะนำไปสู่การขาดทุนหลายครั้งหลายครามาก เช่น คำถามเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของทางผ่านเข้าออก ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ว่ามีภาระจำยอมหรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรที่พิเศษกว่าปกติ และมีโอกาสทำให้เกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้เราไม่สามารถใช้ทางนั้นเข้าออกที่ดินผืนนั้น  คำถามเกี่ยวกับภาระผูกพัน  อสังหาริมทรัพย์ชิ้นนั้น ติดภาระผูกพันอะไรหรือไม่ หรือมีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ประโยชน์ของที่ หรือมีโอกาสถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ฯลฯ

และการลืมถามคำถามดีๆก็นำพาไปสู่การขาดทุนหลายครั้งเช่นกัน ถ้ามีโอกาสจะรวบรวมคำถามเหล่านี้มาแบ่งปันนะคะ

ข้อที่สาม : ศึกษาให้รู้พื้นเพ และประวัติการทำงาน และปรัชญาในการใช้ชีวิตของเจ้าของและผู้บริหาร ว่าเป็นแนวทางที่เรารับได้ไหม ข้อนี้ทำได้ยาก หากเป็นบริษัทที่ความเป็นเจ้าของกระจายไปในวงกว้าง หรือเป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นที่ถืออยู่เป็นเพียงตัวแทนในการลงทุน โดยเฉพาะหากจะไปเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุน(ลงทุนในหุ้น)ด้วย เจ้าของที่แท้จริงมีความสำคัญมากค่ะ เวลาเกิดเหตุการณ์ในทางลบ เขาพร้อมจะทิ้งธุรกิจหรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าของที่มีกิจการหลายอย่าง กิจการที่เราเข้าไปลงทุน อาจเป็นกิจการที่มีความสำคัญน้อยสำหรับเจ้าของก็อาจเป็นได้

วัฒนธรรมก็มีความสำคัญ การลงทุนในบางประเภท ผู้บริหารที่แม้จะเป็นเพียงลูกจ้างมืออาชีพ แต่ก็มีความรับผิดชอบมากเสมือนเป็นเจ้าของกิจการ ใส่ใจที่จะกอบกู้กิจการในเวลายากลำบาก และทุ่มแรงกายแรงใจที่จะทำให้บริษัทเจริญรุ่งเรืองในยามมีโอกาส บางทีมากยิ่งกว่าเจ้าของเสียอีก ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพจริงๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น จะมีคุณสมบัติเช่นนี้สูง

ข้อที่สี่ : รู้จักสถานะวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของบริษัท  หากเราลงทุนในธุรกิจเริ่มใหม่ เราอาจต้องเตรียมเงินไว้ลงทุนเพิ่มเมื่อบริษัทขยาย เราจะไปคาดหวังให้บริษัทจ่ายเงินปันผลงามๆเหมือนบริษัทที่อยู่ตัวแล้วไม่ได้ แต่หากเราลงทุนในบริษัทที่ธุรกิจโตเต็มที่แล้ว หรือมีเงินกำไรสะสมอยู่มาก เราก็อาจต้องคอยติดตามว่าผู้บริหารจะนำพาธุรกิจขยายขอบเขตไปด้านใด ด้านลึก หรือด้านกว้าง และจะทำให้ความเสี่ยงของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

ติดตามความคืบหน้า และสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทเป็นประจำ ว่าบริษัทจะหันทิศทางไปทางไหน ตรงกับที่เราอยากเห็นหรือไม่ ทิศทางที่จะไปจะทำให้รอดและเติบโตแข็งแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเป็นมากในยุคนี้ ยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ผู้ที่จะชนะต้องปรับปรุง ปรับตัว ปรับธุรกิจ ไปจนถึงเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูป เปลี่ยนธุรกิจ ฯลฯ ผู้ลงทุนต้องถามตนเองว่า ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็นไปหรือไม่  แม้ว่าในกฎเกณฑ์จะกำหนดให้ต้องของมติจากผู้ถือหุ้น ในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อแนวทางและการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมาก

ในฐานะผู้ลงทุนรายย่อย หากการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราปรารถนา เราคงทำได้เพียงสอบถามและแสดงความเห็นในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น หรือเปลี่ยนการลงทุนไปลงทุนในบริษัทอื่นเท่านั้น

ในการลงทุน ท่านมีสถานะสองสถานะ คือ เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นเจ้าของ ท่านที่ถือหุ้นกู้ของบริษัท ท่านมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ท่านให้บริษัทกู้ยืมเงิน กฎหมายกำหนดให้ท่านได้สิทธิ์ในการรับเงินคืนก่อนเจ้าของ ดังนั้นบริษัทจะจ่ายผลตอบแทนให้ท่านในรูปดอกเบี้ยซึ่งกำหนดอัตราไว้ชัดเจน นั่นคืออัตราสูงสุดที่ท่านจะได้รับ กรณีทุกอย่างเป็นไปด้วยดี แต่หากทุกอย่างไม่ได้เป็นไปด้วยดี ท่านจะได้รับน้อยกว่านี้ หรือแย่ที่สุด คือ อาจจะไม่ได้รับอะไรคืนเลยหากไม่มีเงินเหลือจากการขายทรัพย์สิน

หากท่านเป็นผู้ถือหุ้นทุน ท่านมีสถานะเป็นเจ้าของ ท่านมีสิทธิ์ในการได้รับผลกำไรสุทธิของบริษัท ในทางกลับกัน หากบริษัทมีการขาดทุน ส่วนเงินลงทุนของท่านก็จะถูกตัดหายไปเท่าจำนวนที่มีการขาดทุนเช่นกัน  ผู้ถือหุ้นจึงมีความเสี่ยงมากกว่าเจ้าหนี้ แต่เวลารับผลตอบแทน ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าด้วย

และท้ายที่สุด ข้อที่ห้า : ขอให้เชื่อในความรู้สึกของตนเอง แม้ว่าจะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ให้บริษัทต่างๆที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลกับผู้ลงทุนให้เท่าเทียม โดยไม่ชักช้า ให้มีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี และคานอำนาจ โดยคณะกรรมการตรวจสอบ แต่หากท่านรู้สึกไม่ดี เช่น หากไม่สบายใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับมา ขอให้คิดว่า หากเกิดกรณีแย่ที่สุดขึ้นมา เราจะพอมีทางได้เงินคืน หรือได้รับการชดเชยหรือไม่ หรือหากรู้สึกไม่ถูกใจ ไม่ถูกชะตากับผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องลงทุน เงินเป็นของเรา อย่างไรก็เป็นของเรา หากเราไม่สบายใจที่จะให้ยืม หรือลงทุน ก็อย่าฝืนใจลงทุน ก็อย่าได้เที่ยวไปวิ่งหาความทุกข์เข้ามาเพิ่มเลยค่ะ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนบ้างนะคะ