FATCA และ CRS เมื่อไทยต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี
ประเทศไทยกำลังจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล ภายใต้ความตกลง FATCA และ CRS ในอนาคตอันใกล้ ผู้เขียนจึงขอสรุปความกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว
วัตถุประสงค์ FATCA และ CRS
FATCA และ CRS เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษี ระหว่างกรมสรรพากรของประเทศคู่สัญญา ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของสรรพากรที่จะตรวจสอบได้ภายใต้ขอบอำนาจของตน
เนื่องจากผู้เสียภาษีได้นำฝากไว้ที่สถาบันการเงินในต่างประเทศ เช่น นาย A ชาวอเมริกัน ฝากเงินไว้กับบัญชีของธนาคารในไทย ดังนั้น เงินของนาย A จึงยากแก่การตรวจสอบของสรรพากรสหรัฐ
จากตัวอย่าง จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อาจเป็น “หนึ่งในสาเหตุของการหลบเลี่ยงภาษี เพราะรัฐไม่สามารถมองเห็นรายได้ที่แท้จริงของผู้เสียภาษีที่เก็บไว้ในประเทศอื่น”
ข้อแตกต่างที่สำคัญของ FATCA และ CRS
1.คู่สัญญาและข้อมูลที่ต้องส่ง
FATCA : ไทยได้ทำความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (ปีละครั้ง) กับสหรัฐ ดังนั้น ข้อมูลที่ต้องนำส่ง คือข้อมูลทางการเงินของชาวสหรัฐที่อยู่ในไทย โดยทางกลับกัน สหรัฐก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลทางการเงินของคนไทยในสหรัฐให้กับไทยเช่นกัน
CRS : ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax purposes (Global Forum)
ซึ่งภายใต้พันธกรณีของ Global Forum ไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งแบบร้องขอ ภายใต้กรอบอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ไทยมีอยู่ (60 ประเทศ ไม่รวมสหรัฐ) และแบบอัตโนมัติในลักษณะพหุภาคีกับประเทศสมาชิกในเครือข่ายความร่วมมือภาษี (กว่าร้อยประเทศทั่วโลก)
2.ข้อมูลของใครบ้างที่ถูกรายงาน
FATCA เป็นข้อมูลทางการเงินของบุคคลสัญชาติสหรัฐ (U.S.Citizen) บุคคลสองสัญชาติ ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ (กรีนการ์ด) และบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี (เช่น อยู่ในสหรัฐเกิน 183 วันในปีภาษี)
CRS จะพิจารณาจาก Tax resident หรือถิ่นที่อยู่เพื่อวัตถุประสงค์ในทางภาษี ซึ่งเป็นหลักการที่ว่า ผู้มีถิ่นที่อยู่ (หรืออาศัยอยู่) ในประเทศใด ย่อมต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักสัญชาติ
กล่าวคือ กรณีบุคคลธรรมดา จะพิจารณาจากจำนวนวันที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา Tax resident เช่น ประเทศ A กำหนดว่า หากบุคคลไม่ว่าสัญชาติใดอยู่ในประเทศ A เป็นเวลา 180 วันและมีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศ A ประเทศ A จะมีสิทธิเก็บภาษีจากเงินได้ดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อปรับเข้ากับหลักเกณฑ์ของ CRS จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะถูกไทยรายงานข้อมูล คือข้อมูลของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในรัฐคู่สัญญา ซึ่งรวมถึงกองมรดกที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในดินแดนของรัฐคู่สัญญาด้วย
ในทางปฏิบัติ บุคคลหนึ่งอาจเป็น Tax resident ของหลายประเทศก็ได้ หากในปีภาษีที่ผ่านมาได้อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนด
3.ผู้มีหน้าที่รายงาน
ในภาพรวม FATCA กับ CRS ได้กำหนดนิยาม “สถาบันการเงินที่ต้องรายงาน” ไว้ใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาจากประเภทของธุรกิจที่มีลักษณะการให้บริการที่อาจก่อให้เกิดรายได้ หรืออาจถูกใช้เป็นที่เก็บเงินกำไรของบุคคล อันได้แก่
1) สถาบันที่ทำหน้าที่รับฝากเงิน เช่น ธนาคาร 2) สถาบันผู้รับฝากสินทรัพย์ทางการเงิน (Custodian) 3) ธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนที่รับจัดการ/บริหารการลงทุนให้ลูกค้า เช่น บริษัทหลักทรัพย์ 4) ผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตที่มีการออกกรมธรรม์ที่มีมูลค่าเงินสดหรือแบบเงินรายปี (การประกันภัยแบบพ่วงการลงทุน)
จากความตกลงระหว่างประเทศสู่กฎหมายภายใน
ไทยได้เข้าทำความตกลง FATCA กับสหรัฐในปี 2559 และเข้าร่วมเป็นสมาชิก Global Forum ตามมาตรฐานของ OECD ที่เรียกว่า CRS (Common Reporting Standard) ในปี 2560
ต่อมาได้อนุวัติการความตกลง FATCA โดยการตรา พ.ร.บ.การปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐ เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ 2560
และอนุวัติการพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีแบบร้องขอและตามกรอบความร่วมมือของ OECD CRS โดยการตรา พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร 2566
กฎหมายภายในของ FATCA
นอกจาก พ.ร.บ.อนุวัติการฯ มีกฎหมายลำดับรองอีก 3 ฉบับ ได้แก่
1.“พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ลักษณะการให้บริการ หรือธุรกรรมของผู้มีหน้าที่รายงาน” เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่รายงาน
2.“กฎกระทรวงการขอและการออกหนังสือรับรองสถานะการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน” ซึ่งผู้ประสงค์อาจร้องขอหนังสือดังกล่าวเพื่อรับรองสถานะว่าเป็นหรือไม่เป็นผู้มีหน้าที่รายงานตาม FATCA ได้
3.“กฎกระทรวงการรวบรวมและนำส่งข้อมูลที่ต้องรายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลในทางปฏิบัติ (ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดแบบรายงานข้อมูล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้)
กฎหมายภายในของ CRS
นอกจาก พ.ร.ก.อนุวัติการฯ มีกฎหมายลำดับรองอีก 3 ฉบับ ได้แก่
1.“กฎกระทรวงกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตาม Global Forum
2.“ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อรัฐหรือภาคีซึ่งเป็นคู่สัญญาตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ” โดยไทยได้กำหนดรายชื่อประเทศ (113 ประเทศ) ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย
3.“ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ”
การบังคับใช้
สำหรับ CRS สรรพากรได้เปิดระบบรายงานข้อมูลแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.-16 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลของปี 2565 และสำหรับ FATCA เมื่อประกาศอธิบดีแล้วเสร็จ และไทยได้แจ้งถึงความพร้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ในต้นปี 2567
ท้ายที่สุด ปีหน้าจะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินเพื่อความโปร่งใสในทางภาษีตามความตกลงทั้งสองฉบับอย่างเต็มรูปแบบ.