การเงินโลกจ่อ แบ่งขั้ว หนักขึ้น หลัง BRICS ขยาย คาด หยวน ผงาด 20% ของธุรกรรมโลก
การแบ่งขั้วเศรษฐกิจโลกส่อเค้ารุนแรงและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงิน หลังกลุ่ม BRICS ขยายสมาชิกเพิ่ม หวั่น ความแข็งแกร่งดอลลาร์ ลดลง หลังหลายประเทศในกลุ่ม OPEC จ่อเข้าร่วม BRICS และอาจซื้อขายน้ำมันในสกุลเงินหยวน-รูเบิล มากขึ้น คาดหยวนผงาด 20% ธุรกรรมโลก
Key Points
- อดีต รมต. คลัง ประเมิน กลุ่ม BRICS ยังไม่สามารถสร้างสกุลเงินของตัวเองได้
- อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของกลุ่ม BRICS นับเป็นช่องทางสำคัญของกลุ่มที่ต้องการลดการพึ่งพาสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก หวั่น โลกแบ่งขั้วหนักขึ้น
- กลุ่ม BRICS และหลายประเทศอาจซื้อขายกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น พบในปี 2563 สัดส่วนเงินหยวนในเวทีโลกอยู่เพียง 4% แต่ปี 2565 อยู่ที่ 7%
- นักวิเคราะห์กังวลดอลลาร์หมดความแข็งแกร่งเพราะกลุ่ม OPEC เข้าร่วมกลุ่ม BRICS และประเทศในกลุ่มฯ อาจซื้อขายน้ำมันในสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น
- จีดีพีของกลุ่ม BRICS มากกว่าจีดีพีกลุ่ม G7 ในแง่ความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (PPP) และจีดีพีของ BRICS คิดเป็น 26% ของ จีดีพีโลก
- นักวิเคราะห์คาด ในอนาคตสัดส่วนการใช้หยวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 20%
หลังจากการประชุมอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งประกอบด้วยชาติมหาอำนาจอย่างบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จบลงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา หนึ่งประเด็นซึ่งเป็นที่พูดถึงมากสุด คือ การลดการพึ่งดอลลาร์ รวมทั้งลดการพึ่งพาสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ซึ่งจะยิ่งแบ่งทั้งโลกออกเป็นหลายฝ่ายมากขึ้น
การสร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS ยังไกลความเป็นจริง
สำหรับประเด็นเรื่องการสร้างสกุลเงินของกลุ่ม BRICS จากการประชุมที่ผ่านมา บรรดาผู้นำของแต่ละประเทศ ยังไม่สามารถหาทางออกเรื่องการสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งจากเงินดอลลาร์ได้ รวมทั้งนักวิเคราะห์จำนวนมากต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าแนวคิดดังกล่าวจะสำเร็จ
โดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่า การสร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS นั้นทำได้ยาก หรือแม้กระทั่งใช้สกุลเงินของประเทศใน BRICS อย่างหยวนของจีนและรูปีของอินเดียก็อาจสร้างประเด็นไม่ลงรอยให้กับทั้งสองประเทศได้ รวมทั้งการบริหารนโยบายทางการเงินของประเทศในกลุ่ม BRICS ยังมีลักษณะปิดหรือไม่เปิดกว้างมากพอ
หรือแม้กระทั่ง การตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นมา แล้วพยายามใช้งานเหมือนยูโร ก็ทำไม่ได้เพราะลักษณะการค้าของประเทศเหล่านี้กระจายมาก รวมทั้งประเทศในกลุ่ม BRICS ก็อาจไม่ยอมนำอิสรภาพในการบริหารนโยบายทางการเงินยกไปให้ศูนย์กลาง เพราะระดับการพัฒนาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
โดยแนวทางที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือการออกเป็นคริปโทฯ หรือโทเคน ที่จะโยงกับทองคำ ซึ่งทุกประเทศก็ยังมีสกุลเงินของตัวเอง เพียงแต่ต้องกำหนดทุกวันว่าสกุลเงินโทเคนมันควรจะมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไร ไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจในพิมพ์เงิน ปั้มเงินได้ตามอำเภอใจ (Quantitative Easing)
อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย ระบุว่า
การทำเช่นนั้นก็ยังมีปัญหาว่า จะทำยังไงให้สกุลเงินออกแล้วมีปริมาณมากพอในการค้าขาย ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่ม BRICS เพราะกลุ่มดังกล่าวก็ต้องการค้าขายกับนอกกลุ่มด้วย ทว่าปัญหาคือปัจจุบันมูลค่าทองคำทั่วโลกยังน้อยกว่าตลาดดอลลาร์แบบเทียบกันไม่ติด โดยอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10 ของตลาดดอลลาร์เท่านั้น
รวมทั้งหากออกสกุลเงินดังกล่าวมาแล้วหลายประเทศจะมั่นใจได้ว่าหากต้องการแลกกลับเป็นทองคำจะสามารถทำได้ทันทีหรือไม่ ซึ่งถ้าอยากสร้างความมั่นใจก็ต้องนำทองคำของแต่ละประเทศไปฝากไว้ที่ใดที่หนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือสูง แต่ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์ก็มีส่วนในการคว่ำบาตรรัสเซีย ดังนั้นก็ยากที่จะหาประเทศที่เป็นกลางเพื่อฝากทองคำไว้
ประเด็นที่สำคัญมากกว่าคือ “โลกจะแบ่งขั้ว” มากขึ้น
หนึ่งประเด็นที่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต่างประเมินว่าหากท้ายที่สุดกลุ่ม BRICS รวมตัวกันได้อย่างมีเสถียรภาพ และสามารถลดการพึ่งพาดอลลาร์ได้จริง อาจทำให้ทั้งโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงระบบการเงิน คือกลุ่มที่อยู่ฝั่งสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก กับกลุ่มที่อยู่ฝั่งจีน-รัสเซีย
โดยหากอ้างอิงข้อมูลตามการรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ พบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีสกุลเงินใดเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ได้ เพราะเกือบทุกภูมิภาคของโลกใช้สกุลเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เว้นแต่ทวีปยุโรปเท่านั้นที่ใช้สกุลเงินยูโร
กล่าวคือ ระหว่างปี 2542-2562 ประเทศในทวีปอเมริกาใช้เงินสกุลดอลลาร์ในการซื้อขาย 96% เอเชีย-แปซิฟิก 74% ยุโรป 25% และภูมิภาคอื่นๆ 79%
ทว่าหากพิจารณาสัดส่วนการทำธุรกรรมทางการเงินระดับโลก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) พบว่า ในปี 2565 สกุลเงินดอลลาร์ยังคงรั้งอันดับหนึ่ง ในฐานะสกุลเงินที่ใช้ในการทำธุรกรรมมากที่สุดในโลก ที่ 88% รองลงมาคือ ยูโร 31% เยน 17%ปอนด์ 13% และหยวน 7%
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านสกุลเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้น ในอันดับ 8 ที่ 4% ในปี 2563 มาอยู่อันดับ 5 ที่ 7% ในการสำรวจล่าสุดของปี 2565 เพราะจีนเริ่มซื้อขายกับต่างประเทศในสกุลเงินของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะกับรัสเซียและบราซิล ดังนั้นตัวเลขทั้งหมดอาจเป็นสัญญาณว่าหลายประเทศอาจให้ความสำคัญกับการซื้อขายในสกุลเงินอื่นมากขึ้นนอกเหนือจากดอลลาร์
กลุ่มโอเปคต้องการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS
ทั้งนี้ หนึ่งสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์กังวลว่าจะเข้ามาลดสัดส่วน “ความแข็งแกร่ง” ของดอลลาร์คือ การเชื่อมโยงค่าเงินดอลลาร์กับการซื้อขายน้ำมัน (Petrodollars) เพราะหลายประเทศประมาณ 9 ประเทศจากทั้งหมด 13 ประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลกโอเปค ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ คูเวต อิหร่าน ในจิเรีย แอลจีเรีย เวเนซูเอลา และกาบอง แสดงความสนใจต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS รวมทั้ง แม็กซิโก และคาซักสถาน จากกลุ่มโอเปคพลัส ก็ต้องการเข้าร่วมเช่นเดียวกัน
โดย ไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ แจ้งต่อการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมว่า ตัดสินใจเชิญอาร์เจนตินา, อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี เข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ซึ่งซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่ประมาณ 14.5% ของปริมาณการส่งออกน้ำมันทั่วโลก
ดังนั้น บรรดานักวิเคราะห์จึงมองว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่ความแข็งแกร่งของสกุลเงินดอลลาร์อาจลดน้อยลงและกลุ่มประเทศ BRICS อาจซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินท้องถิ่น หรือแม้กระทั่ง หยวนและรูเบิลรัสเซีย มากขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะยิ่ง “เปิดช่องทาง” ให้กลุ่มประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพาดอลลาร์และลดการพึ่งพาสหรัฐ มีพื้นที่แสดงตัวตนมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวก็จะยิ่งทำให้ทั้งโลกแบ่งออกเป็นภาคส่วนมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ไม่พอใจการดำเนินนโยบายทางการเงินและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสหรัฐ รวมทั้งกลุ่มที่สนับสนุนจีน-รัสเซีย เป็นต้น
ความพยายามในการลดการพึ่งพาดอลลาร์ของกลุ่ม BRICS
โดยหนึ่งในความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่ต้องการลดการพึ่งพาดอลลาร์อย่างเห็นได้ชัดคือ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศ BRICS และเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก วางแผนที่จะเริ่มปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินแอฟริกาใต้ และบราซิล มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ และส่งเสริมระบบการเงินระหว่างประเทศที่มีหลายขั้วมากขึ้น
ด้านดิลมา รุสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) อดีตผู้นําบราซิล ซึ่งเป็นหัวหน้าธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ กล่าวว่า
อาจจะปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินดังกล่าวอยู่ระหว่าง 8 พันถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้" รุสเซฟฟ์ กล่าวกับ พร้อมเสริมว่า "เป้าหมายของเราคือ การปล่อยสินเชื่อประมาณ 30% ... ในสกุลเงินท้องถิ่น”
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักกังวลอิทธิพลของ BRICS โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแยกตัวออกจากการพึ่งพาดอลลาร์ คือ ขณะนี้ 5 ประเทศในกลุ่ม BRICS มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันมากกว่าจีดีพีของกลุ่ม G7 ทางฝั่งสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก ในแง่ความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ (PPP) และจีดีพีรวมของประเทศในกลุ่ม BRICS คิดเป็น 26% ของ จีดีพีโลก แม้จะมีเพียง 15% ของอำนาจในการลงคะแนนเสียงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เท่านั้น
โดยนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตั้งแต่สหรัฐแช่แข็งสกุลเงินสำรองในรูปดอลลาร์ของรัสเซียเนื่องจากการทำสงครามกับยูเครนทำให้หลายชาติกังวลว่าวันหนึ่งอาจจะได้รับผลกระทบแบบเดียวัน จึงพยายามหาระบบการชำระเงินอื่นที่ไม่ใช้ดอลลาร์หรือได้รับการแทรกแซงของสหรัฐ
ทั้งหมดก็จะนำไปสู่การที่ทั้งโลกแบ่งออกเป็นกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการพึ่งสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกกับกลุ่มที่ต้องการลดการพึ่งพาสหรัฐ ซึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย
แต่การจะใช้สกุลเงินใดเข้ามาแทนดอลลาร์ได้ สกุลเงินนั้นต้องมีการใช้อย่างแพร่หลาย และประเทศนั้นต้องมีสกุลเงินสำรองระดับสูง ซึ่งหยวนมีความเป็นไปได้ แต่อาจจะทดแทนได้เพียง 20% ของการค้าโลก แต่จะใช้หยวน 100% ก็ไม่ได้เพราะดอลลาร์ก็ยังเป็นสกุลเงินหลัก แต่เชื่อว่าหลายประเทศก็คงต้องการกระจายความเสี่ยง”
ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า
ในระยะสั้นการรวมตัวกันของกลุ่ม BRICS อาจไม่ทำให้ความสำคัญของดอลลาร์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งจีนและอินเดียมีโครงสร้างการค้าที่ผูกติดกันมากเกินไป โดยในหนึ่งปีจีนซื้อขายกับสหรัฐมากถึง 6 แสนล้านดอลลาร์
ทว่าในระยาว ความสำคัญของดอลลาร์มีแนวโน้มลดลงจริง และเทรนด์ในอนาคตก็เป็นเช่นนั้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านดอลลาร์มีจำนวนมากเกินไป ดังนั้นในอนาคตก็ควรมีสกุลเงินอื่นเพิ่มขึ้นมา
โดยในอนาคตโลกจะเปลี่ยนไปในเชิง Bipolar World มากขึ้นคือมีทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีจีน มีสหรัฐ และมีกลุ่มผลประโยชน์อื่นขึ้นมามากมายเพื่อคานอำนาจกัน ทว่าท้ายที่สุดประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐก็ไม่สามารถแยกขาดกันได้อย่างถาวร เพราะมีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ท้ายที่สุด เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอุณหภูมิการเมืองโลกค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน ตั้งแต่สหรัฐประกาศแช่เเข็งทุนสำรองระหว่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์ของรัสเซีย หรือแม้กระทั่งการระงับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปจีน
ทั้งหมดเริ่มทำให้เห็นว่า โลกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือฝั่งที่เห็นด้วยกับสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก และฝั่งที่เห็นด้วยกับจีน-รัสเซียและต้องการลดการพึ่งพาสหรัฐ
กระแสดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากสปร์อตไลท์ส่องไปที่กลุ่ม BRICS กลุ่มที่ว่ากันว่าจะเข้ามาเป็นทางเลือกให้ประเทศที่ไม่อยากเสี่ยงกับการอยู่ภายใต้อาณัติของสหรัฐอีกต่อไป เพราะพวกเขากังวลว่าสักวันหนึ่ง หากเดินเกมผิดและทำอะไรที่สหรัฐไม่พอใจ สุดท้ายตกที่นั่งลำบากเหมือนรัสเซีย
ดังนั้นก็น่าติดตามต่อไปถ้ากลุ่ม BRICS ขยายสมาชิกเพิ่มและสามารถสร้างกลุ่มเศรษฐกิจที่แข็งเเกร่งขึ้นมาได้ หมายความว่า
อีกขั้วอำนวจทางเศรษฐกิจหนึ่งที่จะมาคานอำนาจกับได้เกิดขึ้นแล้ว
โดยหากเป็นเช่นนั้นจริง การซื้อขายสินค้ากันภายในกลุ่มด้วยสกุลเงินท้องถิ่นและกีดกันประเทศที่อยู่อีกกลุ่มเศรษฐกิจหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว
เมื่อถึงวันนี้ ประเทศไทย อาจต้องกลับมานั่งคิดทบทวนอย่างละเอียดว่า นโยบายต่างประเทศแบบ “ไผ่ลู่ลม” ยังใช้ได้ต่อไปหรือไม่ หรือเราจะต้องยอมเสียประโยชน์และเลือกข้าง ท่ามกลางระเบียบโลกใหม่ที่สหรัฐอาจไม่ใช่ผู้ชนะอีกต่อไป