ธปท.เตรียมปรับ ‘จีดีพี-เงินเฟ้อ’ ปี 66 ลงในรอบประชุมกนง. ก.ย.นี้
ธปท.รับเศรษฐกิจไตรมาส2ออกมาต่ำกว่าคาด จากส่งออกฟื้นตัวช้า รายจ่ายท่องเที่ยวลดลง นักท่องเที่ยวจีนหด เตรียมปรับประมาณการณ์จีดีพี เงินเฟ้อต่ำลง ในรอบการประชุมกนง.ปลายเดือนก.ย.นี้ ย้ำการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องถอนคันเร่ง ปรับดอกเบี้ยสู่สมดุลระยะยาว
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน สัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566 ว่า สำหรับภาพเศรษฐกิจไตรมาส 2ที่ออกมา ต่ำเพียง 1.8% ถือว่าต่ำกว่าที่ธปท.ประเมินไว้
ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอก จากรายจ่ายนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าคาด แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาน้อยกว่าที่คาด และจีนถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมาจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า จากไซเคิ้ลของ ส่งออกโลก จากภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัว และฟื้นตัวช้ากว่าคาด
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะอ่อนค่าที่คิด แต่ยังฟื้นตัวได้ ตัวที่ขับเคลื่อนหลักๆ มาจาก ภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปีนี้ที่คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นไปตามเป้าที่ 29ล้านคน
ถัดมาคือ การบริโภคในประเทศ ที่เติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2จะออกมาต่ำกว่าที่คาด เพียง 1.8% แต่หากดูการบริโภคเอกชนพบว่าไตรมาส2เติบโตสูงถึง 7.8% และหากดูครี่งปีแรกของการบริโภคเอกชน พบว่า เติบโตสูงที่สุดในรอบ 20ปี
ดังนั้นแรงหนุนจากการบริโภคเอกชนมาค่อนข้างชัดเจน และคาดยังเป็นแรงหนุนต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
แต่ปัจจัยที่กระทบต่อการคาดการณ์ คือภาคส่งออก ที่ยอมรับว่าในช่วงครี่งปีแรก ฟื้นตัวช้า ดังนั้นต้องติดตามว่า ตัวเลขส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวตามที่คาดได้หรือไม่
ส่งผลให้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในเดือนก.ย. นี้ ธปท.เตรียม ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ลดลง จากประมาณการณ์เดิม โดยคาดการณ์จีดีพีปี 2566อยู่ที่ 3.6% และเงินเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.0%
“ในด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจธปท. จะปรับตัวเลข ทั้งเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อปีนี้ลง เพราะออกมาต่ำกว่าที่เราคาด ในการประชุมกนง.ปลายเดือนก.ย.นี้”
สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โจทย์เปลี่ยนไป จาก smooth take off ไปสู่การ Landing อย่างมีเสถียรภาพ คือ การให้ดอกเบี้ยเหมาะสมกับภาพระยะยาว และสอดคล้องกับความสมดุลระยะยาว
ซี่งมี3ด้านหลักคือ เงินเฟ้อต้องเข้ากรอบอย่างยั่งยืนที่ 1-3% แม้มองว่าข้างหน้าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากวิกฤติแอลนีโญบ้าง
สอง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพระยะยาว ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยตามศักยภาพเติบโตราว 3-4% ซึ่งอยากเห็นการเติบโตสู่ระดับนี้
สุดท้ายคือ อย่าให้เกิดความไม่สมดุลในด้านการเงิน โดยที่ผ่านมายอมรับว่าจากดอกเบี้ยไทยที่ต่ำมานาน ทำให้เกิดความไม่สมดุลเกิดขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง 90.6%ต่อจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนการออมที่ต่ำ และคนกู้มาขึ้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยต้องเข้าสู่ระบบที่สอดคล้องสมดุลระยะยาว หรือ Neutral rate
“อยากย้ำว่า เป็นการ เข้าสู่ภาวะปกติ เข้าสู่สมดุล เทียบเคียงกับการถอนคันเร่ง เพราะเดิมมีการเหยียบเบรกคันเร่งไว้สุดในช่วงโควิด ดอกเบี้ยต้องต่ำเพื่อพยุง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ต้องถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่เหยียบเบรก ต่างกับต่างประเทศ ที่ต้องเหยียบเบรก และทำให้ดอกเบี้ยสูงกว่าระดับสมดุล แต่ของเราไม่ใช่ เราอยากเห็นดอกเบี้ยเข้าสู่ความสมดุลระยะยาว”