เมืองเบอร์มิงแฮมประกาศล้มละลาย

เมืองเบอร์มิงแฮมประกาศล้มละลาย

5 ก.ย. 2566 เมืองเบอร์มิงแฮม เมืองใหญ่อันดับสองของอังกฤษ รองจากลอนดอน ประกาศล้มละลาย ผู้ลงทุนหลายคนอาจสงสัยว่า หน่วยงานทางการมีการล้มละลายได้ด้วยหรือ  

 

การล้มละลายทางการเงิน หมายถึงการไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งทำให้เจ้าหนี้ต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องรับการเปลี่ยนแปลงของหนี้ที่มีอยู่ เช่น ยืดกำหนดชำระคืน ปรับลดดอกเบี้ยลง หรือในบางกรณีต่องปรับลดเงินต้นลงที่เขาเรียกกันว่า “ตัดผม”( Hair Cut) ฯลฯ 

การประกาศล้มละลายของหน่วยงานทางการจะต่างกับเอกชนตรงที่ ไม่มีทางเลือกในการขายทรัพย์สินเพื่อเลิกกิจการ เพราะการให้บริการของรัฐหยุดไม่ได้  แต่หมายถึงการหยุดกิจกรรมการทางเงินทุกอย่างที่กฎหมายอนุญาตให้หยุดได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินหรือจ่ายเงิน เพื่อวางแผนจัดการ ปรับปรุงใหม่ และหาทางแก้ไขว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้

เมืองต่างๆมีรายได้ทั้งจากที่รัฐบาลกลางจัดสรรมาให้ และจากการเก็บภาษีของท้องถิ่น หรือเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการต่างๆ 

ค่าใช้จ่ายก็เหมือนกับเทศบาลทั่วไปค่ะ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งรายการใหญ่คือ เงินเดือน ค่าสาธารณูปโภค ค่าก่อสร้างและค่าดูแลซ่อมแซมสาธารณูปโภคและอาคารส่วนกลางต่างๆให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้  ค่าจัดกิจกรรม ฯลฯ 

เราเข้าใจกันแล้วว่า ความยั่งยืนจะเกิดได้ รายรับต้องเกินรายจ่าย หากรายจ่ายเกินรายรับเรื่อยๆ สักพัก ทุนที่ลงเอาไว้ หรือสะสมเพิ่มไว้ ก็จะต้องหดหายลงไป 

ดิฉันพยายามหาข้อมูลเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์นี้ เพื่อที่รัฐบาลท้องถิ่นของเราจะได้พยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานของตนเอง และเพื่อผู้ลงทุนที่อาจมีการลงทุนในต่างประเทศจะได้มีจุดสังเกตและซักถามผู้แนะนำการลงทุน ก่อนที่ท่านจะลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตลงทุนของท่านค่ะ เพราะหน่วยงานท้องถิ่นของไทยยังไม่มีการออกตราสารมากู้ยืมเงินจากประชาชนโดยตรง 

ในข่าวจะบอกว่า สาเหตุหลักของการล้มละลายของเมืองเบอร์มิงแฮม คือเมืองไม่มีความสามารถในการจ่ายเงินชดเชยจากการที่พนักงานและลูกจ้างเพศหญิงของเมือง ชนะคดี “การจ่ายค่าตอบแทนที่ทัดเทียมกัน” โดยที่ผ่านมา ผู้บริหารเมืองไม่ได้จ่ายโบนัสหรือเงินพิเศษให้กับลูกจ้างหรือพนักงานเพศหญิงเหมือนที่จ่ายให้กับพนักงานชาย และพนักงานหญิง 5,000 คน ได้ฟ้องเรียกว่าชดเชยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยศาลตัดสินให้ชนะคดี เมื่อเดือนเม.ย. ปี 2010 และเมืองจ่ายไปแล้ว 1,100 ล้านปอนด์ แต่ยังต้องจ่ายชดเชยอีก 650-750 ล้านปอนด์ และการจ่ายล่าช้า มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 5-14 ล้านปอนด์ 

นอกจากนี้ การที่เมืองรับเป็นเจ้าภาพ จัดกีฬาในเครือจักรภพ 2022 ก็ทำให้สถานะย่ำแย่ยิ่งขึ้น งบการเงินแบบอังกฤษ โดยเฉพาะสำหรับองค์กรภาครัฐ อ่านยากค่ะ  แต่เท่าที่ดูงบการเงินของปี 3 ปีล่าสุดคือ สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2022, 2021 และ 2020 สถานะของเมืองย่ำแย่ในปี 2021 ที่ขาดดุลไป 417 ล้านปอนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นเงินที่ใช้ในการดูแลสวัสดิภาพทางสังคมของผู้สูงวัย

ส่วนในปี 2020 มีการใช้งบประมาณไปกับเรื่องโควิดมาก แต่สำหรับเบอร์มิงแฮม เงินอุดหนุนและความช่วยเหลือที่ได้มา เพียงพอทีเดียว จึงทำให้ปี 2020 เมืองมีรายรับเหนือรายจ่าย 259.7 ล้านปอนด์ เพราะฉะนั้น โควิดจึงไม่ใช้สาเหตุหลัก

ดิฉันขอฉายภาพฐานะทางการเงินของเมืองเบอร์มิงแฮม ในรูปงบแสดงฐานะการเงินที่เราคุ้นชินค่ะ 

งบที่เห็นล่าสุด คือ งบ ณ เดือนมี.ค. 2022 เมืองเบอร์มิงแฮม มีสินทรัพย์หมุนเวียนและเงินลงทุนระยะสั้น 512.3 ล้านปอนด์ มีสินทรัพย์ถาวร (คิดปรับมูลค่าให้สะท้อนราคาตลาด) 7,406.3 ล้านปอนด์ รวมมีสินทรัพย์ 7,918.6 ล้านปอนด์  มีหนี้สินรวม 6,894.5 ล้านปอนด์ เป็นหนี้สินหมุนเวียน 918.3 ล้านปอนด์ และเป็นหนี้สินระยะยาว 5,976.2 ล้านปอนด์ 

ในปีล่าสุด (เมษายน 2021 ถึง มีนาคม 2022) เมืองเบอร์มิงแฮมมีรายรับ 2,263.8 ล้านปอนด์ มีรายจ่าย 3,125.2 ล้านปอนด์  (ซึ่งเข้าใจว่ารวมต้นทุนการกู้ยืม 117.6 ล้านปอนด์ต่อปี)  หมายถึงว่าขาดดุล 861.4 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 38,763 ล้านบาท คิดเป็นสองเท่าของปี 2021  ทำให้ทุนสำรองเหลือ 1,512 ล้านปอนด์ เป็นทุนสำรองที่ห้ามนำไปใช้ 488.1 ล้านปอนด์ คงเหลือเป็นทุนสำรองสุทธิ 1,024.1 ล้านปอนด์ และ ณ ปัจจุบันนี้คงเหลือน้อยเต็มที  

หนี้สิน 6,894.5 ล้านปอนด์ ต่อทุนสำรอง 1,024.1 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วนหนี้สิน 6.73 เท่า ของทุน  

ดูอย่างนี้แล้วอาการของเมืองเบอร์มิงแฮมสาหัสกว่าที่คิดมากเลยทีเดียว ยิ่งนายกรัฐมนตรีซูนัคของอังกฤษ ออกมาให้ความเห็นเมื่อปลายเดือนส.ค.ว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลกลางที่จะไปอุ้มรัฐบาลท้องถิ่นที่บริหารงานผิดพลาด” ก็ยิ่งทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เจ้าหนี้คงต้องทำใจว่า จะต้องถูกยืดหนี้แน่นอน และจะถูกลดหนี้แน่นอน แต่จะยืดไปนานเท่าไร หรือลดหนี้ไปมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการหารายได้ (เก็บภาษี เก็บค่าใช้บริการ เก็บค่าธรรมเนียม เปิดให้สัมปทานแก่เอกชนผู้สนใจมารับทำบริการต่างๆโดยเรียกเก็บค่าสัมปทานล่วงหน้า เพื่อให้มีเงินใช้จ่าย) ในขณะเดียวกันก็ต้องลดรายจ่ายด้วยการ ลดจำนวนพนักงาน/ลูกจ้าง  ตัดลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการที่ให้กับประชาชนในท้องถิ่น หรือเริ่มเก็บค่าบริการจากบริการที่เคยให้ฟรีในอดีต 

ดังนั้น หากท่านสนใจจะลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรของชาติใด ท่านต้องดูความสามารถในการชำระคืนของเขาเป็นหลักค่ะ อย่าดูแต่ชื่อ หรือความมั่งคั่งในอดีต เพราะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกๆกรณี