ปิดช่อง”เศรษฐี”เลี่ยงภาษี สรรพากรให้นำเงินได้เข้าประเทศต้องคำนวณรายได้
สรรพากรปิดช่อง”เศรษฐี”เลี่ยงภาษี กำหนดให้นำเงินได้มาคำนวณเป็นรายได้ชำระภาษี เมื่อนำรายได้เข้าประเทศ ยันเป็นหลักสากลที่ไทยยกเว้นมานาน ทำให้เกิดช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษี ชี้สร้างความเป็นธรรมในระบบ
ประกาศของกรมสรรพากรล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2566 ทำเอานักลงทุนและผู้ที่มีรายได้ในต่างประเทศต้องหยิบขึ้นมาอ่านอย่างละเอียด เพราะกรมสรรพากรมีแผนจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับคนที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
โดย กรมสรรพากรมีคำสั่งให้ บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศ
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวอธิบายเรื่องนี้ว่า โดยหลักสากลของการจัดเก็บภาษีเงินได้ คือ เงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อนำกลับเข้าประเทศไม่ว่าจะปีไหน ก็จะต้องนำมาคำนวณภาระภาษีในประเทศ
กรณีของไทยนั้น เดิมกฎหมายกำหนดว่า ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศในปีใด หากนำเข้ามาในประเทศในปีนั้น จะต้องนำมาคำนวณภาระภาษี แต่หากนำเข้ามาในปีถัดไป หรือ ปีต่อๆไป จะไม่มีภาระภาษี จึงเกิดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาระภาษี ดังนั้น กรมฯจึงต้องปิดช่องโหว่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นสมาชิก Global Forum และไทยได้มีการออกกฎหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินและภาษีกับประเทศสมาชิก ทำให้ต่อไปกรมสรรพากรสามารถรู้ข้อมูลเงินได้ของคนไทยที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงควรมีการเก็บภาษีอย่างถูกต้องและเป็นธรรม
อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า หากผู้มีเงินได้ซึ่งได้เสียภาษีที่ประเทศต้นทางแล้ว จะต้องเสียภาษีในประเทศด้วยจะเป็นการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย และรายได้นั้นได้เสียภาษีในต่างประเทศแล้วจะได้รับยกเว้นหรือไม่อย่างไรก็เป็นไปตามที่กำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศ
สำหรับระยะเวลาการนำข้อกำหนดดังกล่าวมาใช้ กรมสรรพากรได้ให้เวลาเตรียมตัวพอสมควร โดยจะเริ่มใช้สำหรับเงินได้ปี 2567 ถ้ากรณีเป็นบุคคลธรรมดาก็เสียภาษีในปี 2568 ส่วนเม็ดเงินภาษีที่จะได้นั้นยังประเมินไม่ได้ เนื่องจาก ที่ผ่านมา เราไม่เคยจัดเก็บได้ และไม่เคยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเงินได้ระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อเราเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวในปีหน้า เราจึงจะมีข้อมูลดังกล่าว