นโยบายที่ (เหมือนจะ) ดี แต่ไม่มีใครต้องการ
นโยบายของรัฐบาลใหม่เปิดตัวด้วย การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ มีเงินไปจ่ายหนี้เร็วขึ้น แก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยข้าราชการสามารถเลือกได้ว่าต้องการการแบ่งจ่ายแบบนี้หรือไม่ นอกจากนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ ยังทำให้เงินส่วนหนึ่งหมุนในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นอีกด้วย
สำหรับคนที่เคยผ่านการรับเงินค่าตอบแทนลักษณะนี้มาแล้ว หรือเป็นคนที่มีวินัยทางการเงิน ฟังแล้วอาจเข้าใจได้เลยว่าการรับแบบนี้ดีกว่า เพราะได้เงินมาใช้หรือนำไปลงทุนต่อได้เร็วกว่าโดยไม่ต้องรอถึงสิ้นเดือน
ในขณะที่กลุ่มที่มีหนี้สิน ซึ่งส่วนมากหนี้ก็ผ่อนเป็นรายเดือนอยู่แล้ว ต้องพยายามเรียนรู้การบริหารจัดการใหม่ ให้เมื่อได้เงินงวดแรกแล้วต้องระวังอย่าใช้จนหมด เพราะสิ้นเดือนจะเหลือไม่พอจ่ายหนี้ และต้องบริหารจัดการกรณีหนี้ประเภทตัดหน้าซองเงินเดือน หรือเจ้าหนี้เรียกเก็บถี่ขึ้นตามจำนวนรอบที่ได้รับเงิน
ผมว่านโยบายนี้มีประโยชน์นะครับ เพียงแต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้น อาจไม่ตรงกับเป้าหมายหลักมากนัก
จึงควรเป็นกรณีศึกษาของภาครัฐในกระบวนการออกแบบนโยบาย จนกระทั่งถึงขั้นตอนการสื่อสาร ซึ่งควรมีการฟังเสียงประชาชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ว่ากลุ่มคนที่คาดว่าจะได้รับผลในเชิงบวกนั้น มีความต้องการดังกล่าวจริงหรือไม่ เป็น “Need” หรือเป็นแค่ “Want” ส่วนคนที่อาจได้รับผลเชิงลบมีแนวทางรองรับอย่างไร
และต้นทุนทั้งด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ตามจำนวนข้าราชการที่ขอเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือน ซึ่งก็ต้องคำนวณอย่างละเอียดว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้ คุ้มค่าตามวัตถุประสงค์หรือไม่
ซึ่งหากออกแบบให้ดี กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ใช้เวลาหรือต้นทุนที่มากเลย การ “ทดสอบแนวคิด” ผ่านการทำ Survey หรือ Prototype ง่าย ๆ ไม่เพียงกี่ชั่วโมง ก็อาจทำให้ได้ผลเบื้องต้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อลดการคาดคิดกันไปเองในห้องประชุมแล้วผิดทิศผิดทาง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมือนจะดี แต่ไม่มีคนซื้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเวลาธุรกิจจะออกผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ แล้วหลงลืมขั้นตอนการทดสอบแนวคิดให้ดีก่อนการดำเนินการจริง
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ ชักหน้าไม่ถึงหลังให้กับข้าราชการนั้น ผมมองว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ไม่น่าช่วยแก้ปัญหาได้มากนัก แต่การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ 2 เท่า หรือให้ใกล้เคียงเอกชนมากขึ้น ในปริมาณงานและความรับผิดชอบที่เทียบเท่ากัน จะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะเงินเดือนข้าราชการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชั้นผู้น้อย ไม่พอใช้กับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการเพิ่มเงินเดือนนี้ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการและปราบคอรัปชั่น (หรือที่เคยเรียกกันว่าปฏิรูประบบราชการ) เพื่อให้งบประมาณภาษีของเรามีความคุ้มค่าอย่างที่ควรจะเป็น
อีกนโยบายที่ถูกพูดถึงมากคือการให้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านระบบบล็อกเชน กับคนไทยทุกคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่ประมาณ 56 ล้านคน รวมเป็นเงินจำนวนสูงถึง 560,000 ล้านบาทนั้น เป้าหมายของนโยบายนี้ที่ถูกระบุไว้มีหลายข้อ เช่น 1. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
2. ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้สูงสุด จากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถกำหนดได้บนระบบ (เช่น รัศมีการใช้จ่าย ประเภทสินค้า-บริการที่สามารถใช้จ่ายได้) แม้สิทธินี้จะให้กันถ้วนหน้าทุกคนก็ตาม 3.สามารถออกแบบให้เงินดิจิทัลหมุนเวียนได้หลายรอบ ก่อให้เกิดรายได้จนต้นทุนที่รัฐบาลต้องใช้จริง อาจไม่ต้องเต็มจำนวน 560,000 ล้านบาท และ (4) เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ด้วยปริมาณเงินที่สูงและขอบเขตของนโยบาย จึงถูกตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณที่ใช้จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ประโยชน์ที่ได้จะไปถึงกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้น้อยได้มากกว่าธุรกิจใหญ่หรือไม่ จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระยะยาวหรือไม่ ฯลฯ และความเสี่ยงด้านเทคนิค เช่น ความเร็วในการทำธุรกรรมของบล็อกเชนที่ช้ากว่าระบบที่ใช้ในธุรกรรมการเงินทั่วไปหลายเท่า ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บนระบบบล็อกเชนที่ทุกคนสามารถเข้าดูข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ฯลฯ
5 เป้าหมายแรกที่ประชาชนส่งเสียงถึงรัฐบาลผ่าน “ศรีปทุม-ดีโหวตโพล” คือ “เพิ่มค่าแรง-เงินเดือน ป.ตรี, เงินดิจิทัล 10,000 บาท, ลดราคาพลังงาน, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, ปฏิรูประบบราชการ” ในขณะที่ “เนชั่นโพล” ก็ได้ชี้เป้า “ลดราคาพลังงาน, เงินดิจิทัล 10,000 บาท, แก้ปัญหาหนี้สิน, เพิ่มค่าแรง, ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค, เงินเดือน ป.ตรี” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและเริ่มมีการดำเนินการสอดคล้องกับเสียงของประชาชน
อย่างไรก็ตาม แต่ละนโยบายเมื่อถึงเวลาดำเนินการจริง สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป แม้รัฐบาลยังต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่ต้องทบทวนและทดสอบแนวคิดถึงรายละเอียดของแต่ละเป้าหมาย เลือกในสิ่งที่มีความสำคัญให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สำคัญคือการฟังประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงความต้องการที่แท้จริง จนสามารถออกแบบการดำเนินงานให้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด
นโยบายจะประสบความสำเร็จ ก็ต่อเมื่อประชาชนได้รับประโยชน์อย่างจับต้องได้ อย่าให้เกิดเป็น “นโยบาย (ที่เหมือน) จะดี แต่ไม่มีใครต้องการ” (และภาษีของเราก็ปลิวไปแล้ว) ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลกลับไปยังรัฐบาล ที่ไม่สามารถเก็บแต้มใจจากประชาชนได้ดังหวัง