จีนกับความเชื่อมั่น...และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์
ภาวะตกต่ำอย่างหนักของตลาดหุ้นในปี 2022 ดูเหมือนจะผ่านพ้นไปแล้ว ปีนี้ตลาดหุ้นหลักๆ ทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นบวก ยกเว้นจีนและไทย ที่ยังน่ากังวล
โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่แม้จะเปิดประเทศมาได้สักพัก แต่ความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภคและนักธุรกิจยังไม่กลับมา รวมไปถึงวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย แม้ที่ประชุม Politburo ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารประเทศระดับสูงจะส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ครองพื้นที่ข่าวเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังบริษัท Evergrande ยื่นล้มละลาย ตามด้วย บริษัท Country Garden ที่เผชิญความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องในการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มากไปกว่านั้น ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกระทบไปสู่ภาคการเงิน เมื่อบริษัทบริหารความมั่งคั่ง Zhongzhi Enterprise ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จากบริษัททรัสต์ในเครือ Zhongrong Trust ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ใหญ่อันดับ 9 ของจีน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ลุกลามไปทั้งระบบการเงิน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จีนมีสัดส่วนการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2023 การปล่อยกู้ให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ราว 5.1% ของมูลค่าการปล่อยกู้ทั้งหมด ในทางกลับกัน ธนาคารพาณิชย์อาจได้ประโยชน์ทางอ้อมจากเงินฝากที่ไหลเข้า เนื่องจากประชาชนหันมาฝากเงินกับธนาคารที่มีความมั่นคงกว่าทรัสต์กันมากขึ้น
ขณะที่ความสำคัญของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารลดลงจากมาตรการควบคุมของภาครัฐฯ ตั้งแต่ปลายปี 2017 โดยสัดส่วนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 53% ในปี 2021 จาก 92% ในปี 2016 อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์นี้จะไม่ลุกลาม แต่อาจทำลายความเชื่อมั่นและส่งผลให้นักลงทุนในทรัสต์ชะลอการจับจ่ายใช้สอยได้
ธนาคารกลางจีนทยอยประกาศมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความพร้อมและความต้องการประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยลักษณะของมาตรการเป็นแบบพุ่งเป้าและไม่ใช่การกระตุ้นขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น
- ลดเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับการซื้อบ้านหลังแรกและหลังที่ 2 รวมทั้งลดระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดของสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 เพื่อเพิ่มความต้องการซื้อ
- สินเชื่อบ้านหลังแรกที่กู้ยืมไปแล้วก่อน 31 สิงหาคม สามารถรีไฟแนนซ์ที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านระดับต่ำสุด ณ วันที่กู้ยืม เพื่อลดภาระหนี้ของภาคครัวเรือนและหนุนการบริโภค
- ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพื่อจูงใจให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ
ปัจจุบัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากโมเดลการเติบโตของจีนตั้งแต่ปี 2000 – 2021 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยข้อมูล ณ ปี 2021 การลงทุนมีสัดส่วนใน GDP สูงถึง 42% เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการบริโภคที่ 38% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ จะมีสัดส่วน GDP ที่มาจากการบริโภคมากกว่า 60% ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับล่าสุดแสดงความชัดเจนที่จะเพิ่มบทบาทของการบริโภคภายในประเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการเติบโตในอนาคต
ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น อ้างอิงจากดัชนี MSCI China ณ 20 กันยายน 2023 ตลาดหุ้นจีนปรับลงไปแล้วมากกว่า 8% จากต้นปี และมากกว่า 22% จากจุดสูงสุดของปี การประเมินมูลค่า (Valuation) ด้วยอัตราส่วนของราคาต่อกำไรต่อหุ้น (12 Month Forward Price/Earnings Ratio) ลดลงมาที่ 9.6 เท่า ถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปี ที่ 12.1 เท่า และถูกกว่า MSCI World ที่ 16.8 เท่า
ประกอบกับสถานะลงทุนในตลาดหุ้นจีนของนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในระดับ Underweight หรือน้อยกว่าปกติ นั่นหมายถึงตลาดรับรู้ความอ่อนแอและความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนไปมากแล้ว ในระยะสั้น ตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบ คือฟื้นตัวเมื่อมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม และผันผวนขาลงเมื่อมีข่าวร้ายจากปัญหาที่สะสม ตลาดหุ้นจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและหลีกเลี่ยงกับดักมูลค่า (Value Trap) หรือสถานการณ์ที่ราคาหุ้นที่ถูกแล้ว ยังถูกลงไปได้อีก ก็ต่อเมื่อมาตรการจากภาครัฐเพียงพอที่จะเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นปกติและเพิ่มกำลังการบริโภคในประเทศได้ก่อนที่ฐานะทางการเงินของภาคเอกชนจะถดถอยลงจนเกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก
การลงทุนในตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ควรควบคุมสัดส่วนระหว่าง 1-5% ของเงินลงทุนทั้งหมด ตามระดับความเสี่ยง ทั้งนี้ ในระยะยาว เศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพอย่างสูงจากอำนาจการบริโภคในประเทศรวมทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านพลังงานหมุนเวียนและยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า