สรรพสามิตเล็งออก ‘ภาษีคาร์บอน’ กลไกสำคัญ เคลื่อนธุรกิจการค้าการลงทุนไทย

สรรพสามิตเล็งออก ‘ภาษีคาร์บอน’ กลไกสำคัญ เคลื่อนธุรกิจการค้าการลงทุนไทย

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นแรงกดดันการค้าการลงทุน เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งใน”โกลบอลซัพพลายเชน” ของโลก หากนิ่งเฉยอาจทำให้ประเทศไทยถอยหลัง ดังนั้นฝั่งภาครัฐ และเอกชนต้องเกาะติดเทรนด์โลกด้าน ESG เพื่อให้ธุรกิจการค้าการลงทุนของประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้

รัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในการสัมมนา “OSP Sustainability Dialogue : Mission to Carbon Neutral” ถึงนโยบายของกรมสรรพสามิตในมุมมองเรื่องความยั่งยืนว่า “ภาษีคาร์บอน” เป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในประเทศให้เติบโตไปสู่ระดับโลกเพื่อสอดคล้องไปกับนโยบายของรัฐบาล

โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และมีเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2608 รวมทั้งสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกับเกณฑ์มาตรฐานของ “CBAM” ทั้ง 2 ประเด็นสำคัญนี้เอง ทำให้กรมสรรพสามิตเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อน“ภาษีสิ่งแวดล้อม”ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันธุรกิจการค้าการลงทุนของประเทศและเป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมาย และทำให้มีความชัดเจนภายใน 3 ปี เพื่อสอดรับกับ CBAM

ขณะนี้โครงสร้างรายได้ของกรมสรรพสามิตมีสัดส่วนการเก็บภาษี 70% มาจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาจากนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เล็งเห็นความสำคัญว่ากลไกด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

นโยบายการเก็บ”ภาษีคาร์บอน”มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ และผู้ประกอบการมากกว่าการหารายได้เข้าประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้ผลิตสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าที่มุ่งไปที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ซึ่งทำให้อัตราการเสียภาษีที่ลดลงในท้ายที่สุด ทำให้ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่ถูกลง

“ภาษีรถยนต์” คือ ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ในอดีตการเก็บภาษีรถยนต์ขึ้นอยู่กับขนาดของกระบอกสูบ เนื่องจากรถยนต์ถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ในทางกลับกันเมื่อถูกปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่วัดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละคัน ทำให้ผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด ซึ่งทำให้มีเสียภาษีน้อยลงตามไปด้วย สำหรับฝั่งของผู้บริโภคเองสิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อรถยนต์

เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้อัตราภาษีเปลี่ยนไปมุ่งเน้นรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด และการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ลดภาษีสรรพสามิต ลดภาษีอากรขาเข้า และการให้เงินอุดหนุนที่ 1.5 แสนบาทต่อคัน ซึ่งจะช่วยดึงราคารถยนต์ไฟฟ้าลงมาได้ และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายไปจนถึงปี 2567-2568 เพื่อกระตุ้นโมเมนตั้มในตลาดด้วย

     กรมสรรพากรจึงมีการกำหนด”ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย”ที่ชัดเจนว่า จะทำให้กรมสรรพสามิตดำเนินงานควบคู่ไปกับความยั่งยืนมากขึ้น สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิตที่มุ่งเน้นด้าน ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์