เศรษฐกิจทรุดแห่หัน ‘จีดีพี’ เวิลด์แบงก์ห่วง ‘ไทย’ โตช้าลง

เศรษฐกิจทรุดแห่หัน ‘จีดีพี’  เวิลด์แบงก์ห่วง ‘ไทย’ โตช้าลง

สำนักวิจัย แห่ปรับ “จีดีพี” ปีนี้ลงต่ำ 3% หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด ห่วง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยยิ่งกระทบอุปสงค์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้ากลับมาโตดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ หวั่นขยายตัวช่วงสั้น ระยะยาวน่าห่วง “เวิลด์แบงก์” ชี้ชัดเศรษฐกิจไทยโตต่ำลงเรื่อยๆ

สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี นับจากเดือนต.ค.2556 

นอกจากนี้ที่ประชุม กนง.มีมติปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากคาดการณ์เดิม 3.6% นับเป็นการปรับประมาณการลงค่อนข้างแรง เช่นเดียวกับการปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงมาเหลือ 1.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% 

สาเหตุที่ กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงค่อนข้างมากเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่เคยประเมินค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด และจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม กนง.เพิ่มประมาณการ การเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็น 4.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% และเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 เป็นเติบโต 2.6% จากเดิมที่ 2.4% ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตค่อนข้างดี
 

เศรษฐกิจทรุดแห่หัน ‘จีดีพี’  เวิลด์แบงก์ห่วง ‘ไทย’ โตช้าลง นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ประจำธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า การปรับมุมมองจีดีพีของ กนง.ล่าสุดมาจากผลกระทบตลาดโลก ที่กระทบการส่งออกลดลง ซึ่งชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด ทำให้กระทบต่อภาพการท่องเที่ยวลดลง

อีกทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน และเพิ่งกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิดเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กลับไปสู่ระดับปกติ

ขณะที่ภาพเงินเฟ้อไทยปีก่อนสูงสุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันต่ำสุดในอาเซียน สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่เติบโตช้า แต่จากความเป็นห่วงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากประเด็นเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่เวิลด์แบงก์ ประเมินว่าเงินเฟ้อผ่านจุดพีคไปแล้ว ดังนั้นวัฏจักรของดอกเบี้ย น่าจะเริ่มทรงตัวได้

ส่วนมุมมองเศรษฐกิจปีนี้ เวิลด์แบงก์ อยู่ระหว่างการปรับจีดีพี ซึ่งจะประกาศตัวเลขคาดการณ์ใหม่วันนี้ (2 ต.ค.) โดยประเด็นที่น่าห่วงของเศรษฐกิจไทยคือ การเติบโตที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ

“จีดีพีปีนี้ และปีหน้าเราอยู่ระหว่างการปรับประมาณการใหม่ภาพที่สำคัญคือ ระยะกลาง ระยะยาว ว่าท้ายที่สุดการเติบโตจีดีพีของเราจะอยู่ที่เท่าใด อดีตเศรษฐกิจไทยโตได้ 3.5% แต่ตอนนี้เราปรับลงมาเรื่อยๆ มาอยู่ใกล้ 3% สะท้อนความท้าทายของเรามีมากขึ้น ภาพระยะปานกลางเรากำลังชะลอตัว”

เคเคพี” จับตามาตรการรัฐ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า KKP  ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาก่อนหน้านี้แล้วเหลือเติบโตในระดับ 2.8% ดังนั้นที่ กนง.ปรับลงมาจึงใกล้เคียงกับที่เราคาดการณ์ไว้ 

ขณะที่ปี 2567 ปรับตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้าลดลงมาอยู่ที่ 3.2% จากเดิม 3.6% โดยยังไม่รวมปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงมุมมอง ธปท.ล่าสุด ทั้งนี้หากรวมมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะแจกเงินดิจิทัล คาดว่ามีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเกิน 4% หรือ 4% กลางๆ ได้

“ต้องจับตาจีดีพีในปีหน้า ว่าท้ายที่สุดแล้วนโยบายภาครัฐจะหนุนจีดีพีแค่ไหน และเงินที่ใช้จะมาจากเงินใหม่หรือไม่ หากเป็นเงินใหม่ผลต่อเศรษฐกิจจะมาก จีดีพีก็มีโอกาสโตเหนือ 4% หรือ 4% กลางได้ แต่หากเป็นงบเดิม ตัดงบจากงบที่มีอยู่แล้ว ผลต่อเศรษฐกิจอาจน้อยกว่านี้

ทีทีบี” คาดเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำสุด

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวว่า ttb ได้ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยก่อนหน้านี้แล้ว โดยลดการเติบโตในปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ 

อย่างไรก็ตาม ttb มองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และหากดูแนวโน้มระยะข้างหน้าจะเห็นการส่งออกเดือนส.ค.2566 เริ่มดีขึ้น โดยพลิกกลับมาเติบโตครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ 2.6% จึงคาดว่าหากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบเพิ่มเติมเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่ประมาณการไว้

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ทาง ttb ได้ลดการเติบโตลงเหลือ 3.2% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้นหากรวมผลของปัจจัยดังกล่าวก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.8% 

นายนริศ กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ แต่การเติบโตดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงสั้น โดยระยะยาวเศรษฐกิจไทยจะขยายได้ระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตปี 2567 แน่นอน

“ปีหน้าคงเติบโตดีกว่าปีนี้ น่าจะยืนได้เกิน 3% หากไม่มีปัจจัยภาครัฐ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ เศรษฐกิจโลก ว่าจะเป็นอย่างไร และอาจต้องไปถึงระยะข้างหน้า เรื่องวินัยการเงินการคลัง และความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากการทำนโยบายภาครัฐ”

ห่วงเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว รายได้นักท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ ที่บางส่วนชะลอตัวลง เช่น ยอดขายรถยนต์ ลดลง อีกทั้งดอกเบี้ยสูงยังมีความเสี่ยงที่ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะอยู่ระดับสูงได้ เหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับมาดี และภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลง

ดังนั้นหากปัจจัยข้างต้น มีผลกระทบมากกว่าที่คาด อาจส่งผลทำให้จีดีพีไทยปีนี้ต่ำลงอีกได้ จากปัจจุบันที่ ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินการเติบโตไว้ที่ 3% ขณะที่ในปี 2567 ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยโตระดับ 4% เมื่อรวมปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเข้ามาแล้ว อีกทั้งปีหน้ายังได้รับปัจจัยบวก เรื่องฐานต่ำปีนี้ ที่จะทำให้จีดีพีมีโอกาสเติบโตที่ระดับ 4%ได้

“หากตัวเลขเศรษฐกิจแย่กว่าที่เรามองไปอีก จีดีพีอาจต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 2.8% ได้ แต่คงไม่ลงไปต่ำกว่า 2.5% แต่วันนี้เรายังยืนที่ 3% และเชื่อว่า การคาดการณ์ของแบงก์ชาติที่ 2.8% ก็ไม่ต่างกับเรามาก ห่างกันเล็กน้อย ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาก็จะเห็นใกล้เคียงกัน”

มองเศรษฐกิจปีหน้าสวนทาง ธปท.

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC เพิ่งลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.1% ซึ่งอาจสูงกว่า ธปท.เล็กน้อยที่ 2.8% 

ส่วนปีหน้าประเมินไว้ที่ 3.5% ซึ่งไม่รวมปัจจัยบวกจากนโยบายภาครัฐที่อาจต้องปรับจีดีพีขึ้นในระยะข้างหน้า โดยถ้ามีปัจจัยบวกจากมาตรการรัฐเข้ามามากมีโอกาสที่จะหนุนให้จีดีพีปีหน้าโตระดับ 5-6%

“ปัจจัยสำคัญเราอาจไม่ได้มาจากปีนี้แล้ว แต่สำคัญกว่าคือ ปีหน้ามีสิ่งที่ต้องติดตามมากขึ้น ล่าสุด EIC ยังคาดการณ์เศรษฐกิจโต 3.5% แม้ ธปท.มองการเติบโตสูงถึง 4.4% แต่เราก็เปิดช่องไว้ให้ปรับขึ้นได้ในอนาคต จากมาตรการภาครัฐด้วย"

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญ อาจไม่เฉพาะปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น แต่อาจต้องติดตามปัจจัยระยะยาว เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งลงทุนเพื่อยกระดับประเทศระยะกลาง-ยาว ที่สำคัญอีกด้านคือ ต้องติดตามดูเศรษฐกิจจีนว่าจะซึมยาวหรือไม่ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าค่อนข้างมาก

ขึ้นดอกเบี้ยกระทบอุปสงค์ภายใน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ซีไอเอ็มบีไทย เพิ่งปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลงมาเหลือ 3% จากเดิม 3.2% แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจจริงในเดือนส.ค.ที่ชะลอมากกว่าคาดทั้งการบริโภค การลงทุน รวมถึงการส่งออกอาจทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ต่ำกว่าคาดเช่นกัน อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจกระทบอุปสงค์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตาม 

“สิ่งที่ต้องรอความชัดเจนคือ การกระตุ้น​เศรษฐกิจ​ของรัฐบาล​ที่อาจออกมาในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ​ที่อาจหนุนให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายเติบโตมากกว่า​ 5% ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปี 2566 ด้วย”

นายอมรเทพ กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ ซีไอเอ็มบีไทย คงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3% แต่กรณีเลวร้ายการเติบโตอาจต่ำในระดับ 2.7% ขณะที่ ปี 2567 เดิมประเมินที่ 3.5% จากความเสี่ยงการเติบโตช้าในภาคส่งออก ​แต่ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวสนับสนุนการบริโภค​ และการย้ายฐานลงทุน​ ส่วนภาครัฐหากมีมาตรการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยเศรษฐกิจ​ไทยขยายตัวขึ้น​ 0.5% ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจ​ไทยจะขยายตัวเหนือ​ 4% ปีหน้า     

ชี้คงดอกเบี้ยสูงฉุดเศรษฐกิจ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอทยอยลดคาดการณ์จีดีพีในปีนี้มาก่อนที่ ธปท.จะปรับลด โดยทีดีอาร์ไอลดจีดีจาก 3.6-3.7% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ 3% เนื่องจากจำนวนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยเฉพาะจากจีน และญี่ปุ่นยังไม่กลับเข้ามาตามเป้าหมาย แม้ระยะสั้นจะมีมาตรการวีซ่าฟรี ซึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ แต่เรื่องวีซ่าไม่ใช่ปัญหาหลัก โดยมีปัจจัยอื่น เช่น ภาพลักษณ์ และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง เช่น เศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ยังมีปัญหาภายในมากทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่ออกมาเที่ยวต่างประเทศมากนัก

สำหรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะปานกลาง คาดว่าจะมีการเติบโตเศรษฐกิจในระดับประมาณ 3% ต่อปี

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2.5% ต่อปี โดยระดับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของกำลังซื้อ และภาระในการจ่ายดอกเบี้ยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ ธปท.เองก็ต้องมีการดำเนินมาตรการอื่นๆ หรือเครื่องมืออื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นกระทบกับประชาชน และภาคธุรกิจมากเกินไป เช่นเดียวกับมาตรการของภาครัฐที่ต้องใช้มาตรการหลายอย่างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปสู่เป้าหมายได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์