'จิตตะ' ชูแนวทางจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ เป็นธรรม- เท่าเทียม ยึดสากล

'จิตตะ' ชูแนวทางจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ เป็นธรรม- เท่าเทียม ยึดสากล

“ซีอีโอ จิตตะ” ชงแนวทางจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศตามหลักสากล ขอยกเว้น Capital Gain Tax ลงทุนต่างประเทศ หนุนรายย่อยมีโอกาสสร้างผลตอบแทนโตและหมุนเวียนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือควรกำหนดอัตราภาษีและวิธีการจัดเก็บที่เป็นธรรม  พร้อมแนะนักลงทุนรอเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อน

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และผู้ก่อตั้ง Jitta (จิตตะ) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี การวิเคราะห์หุ้นทั่วโลก ที่นักลงทุนไทยนิยมใช้เพื่อตัดสินใจลงทุนต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการศึกษาลงลึก รับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน ที่ปรึกษาด้านกฏหมายภาษี รวมถึงได้เข้าร่วมหารือกับสมาชิกอื่นๆ ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนและเป็นธรรม ยื่นเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และกรมสรรพากรต่อไป

ทั้งนี้ทุกคนเข้าใจดีว่าภาษีเป็นเรื่องสําคัญและเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคนที่มีเงินได้ แต่สิ่งที่ต้องการเห็นคือความเป็นธรรมและเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ต่างประเทศ รวมถึงอยากเห็นความชัดเจน ในการจัดเก็บ เพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนได้ง่ายขึ้น
 
โดยข้อเสนอแนะของ Jitta เพื่อนักลงทุนรายย่อยมีดังนี้
 
ยกเว้นการเก็บภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีการยกเว้น Capital Gain Tax หรือ ประเทศสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง ที่มีการยกเว้นภาษีส่วนนี้เช่นเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนได้มีโอกาสกระจายความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนจากหุ้นบริษัทดีๆ ทั่วโลกได้

เพราะปัจจุบัน โลกแห่งการลงทุนนั้นไร้พรมแดนแล้ว เทคโนโลยีได้อำนวยความสะดวกมากขึ้น นักลงทุนไทยสามารถกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าจากตลาดหุ้นทั่วโลกได้ การจัดเก็บภาษีส่วนนี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจมากนัก แต่กลับลดโอกาสในการแสวงหาการเติบโตของเม็ดเงิน และสกัดกั้นการนำเงินจากนอกประเทศ กลับมาหมุนเวียนในเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า  

แต่หากต้องมีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้จริงๆ ขอให้พิจารณาจัดเก็บตามหลักสากล โดยอย่างแรกสุด คือ ให้คำนวณรายได้จากหลัก Net Capital Gain โดยนำกำไรมาหักลบกับขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนที่จะนับเป็นรายได้ เพราะการลงทุนในหุ้นนั้นมีความเสี่ยงมากกว่ารายได้ประเภทอื่น มีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุน

ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมควรคำนวณภาษีแบบองค์รวม โดยคิดทั้งพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) เพราะสะท้อนถึงรายได้ที่แท้จริงจากการลงทุน เช่น ในสหรัฐฯ ที่สามารถนำผลขาดทุนมาหักออกจากกำไรได้ และหากปีไหนมีการขาดทุนมากกว่ากำไร ก็สามารถใช้ขาดทุนที่เหลือในปีต่อๆ ไปได้จนกว่าจะหมด หรือ ในสหราชอาณาจักรที่สามารถนำขาดทุนมาหักออกได้สูงสุด 4 ปี นับจากปีที่ขาดทุน
 
อย่างที่สอง คือ การแยกอัตราภาษี Capital Gain ออกมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้มีอัตราภาษีโดยเฉพาะ เช่น ที่สหรัฐฯ ถ้าลงทุนมานานกว่า 1 ปี จะถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว จะเสียภาษีในอัตราพิเศษสูงสุดที่ 20% และ หากกำไรไม่ถึง 44,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับยกเว้นภาษี  หรือ กำหนดให้มีการหักลดหย่อนเพื่อความเป็นธรรม สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการลงทุน เช่น ในสหราชอาณาจักร สามารถนำกำไรจากการลงทุนมาหักลดหย่อนได้ 6,000 ปอนด์ กำไรส่วนที่เกิน ค่อยนำไปรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้ปกติ
 
จะเห็นได้ว่าหลักการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีความชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับนักลงทุนทุกราย หากมีการจัดเก็บภาษี จากการลงทุนในต่างประเทศของไทย

Jitta จึงขอเสนอให้ทางภาครัฐ พิจารณาจัดเก็บในอัตราภาษีดังนี้
 
กำไรจากเงินลงทุนสุทธิแล้ว ไม่ถึง 1 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ตั้งแต่ 1-20 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 10% และหากมากกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 20% โดยสามารถนำขาดทุนมาหักออกได้ตามจำนวนที่ขาดทุน และใช้ในปีต่อๆ ไปได้จนกว่าจะหมด หรือครบ 5 ปี

 
“ชนชั้นกลางเป็นฐานใหญ่ของประเทศ เราควรพยายามกระตุ้นเหมือนที่ทุกรัฐบาลพยายามกระตุ้นให้คนเก็บออม และลงทุน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในด้านการเงินส่วนบุคคล  และต้องกระตุ้นให้คนอยากลงทุน เพราะถ้าคนไม่ลงทุนเลย ก็จะเป็นภาระด้านงบประมาณสำหรับรัฐบาลในอนาคตที่จะต้องเข้ามาดูแลเช่นกัน”


 
นายตราวุทธิ์ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนต่างประเทศ ยังให้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนต่างประเทศอยู่ในเวลานี้ว่า  ไม่ควรรีบร้อนที่จะถอนการลงทุนเพราะความกังวลเรื่องภาษีจนลืมมองผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง เพราะระยะเวลาเพียง 3 เดือน มันค่อนข้างที่จะจัดการยาก และเท่าที่คุยกับนักลงทุนหลายท่านก็พบปัญหาว่า เมื่อนำเงินกลับมาในประเทศ ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปลงทุนอะไรต่อ เพราะบางท่านก็มีพอร์ตส่วนหนึ่ง ที่ตั้งใจจะลงทุนในประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นก็ควรรอความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีก่อน เพื่อที่จะได้ทำเรื่องจัดการหรือวางแผนภาษีได้ถูกต้อง