ThaiBMA จับตาเอกชนพับแผนขายหุ้นกู้ พิษบอนด์ยีลด์พุ่ง ดันต้นทุนออกเพิ่ม
“สมาคมตราสารหนี้ไทย” จับตาเอกชนเสนอขายหุ้นกู้ หลังพบไตรมาส3/66 ชะลอแผนขาย 7 บริษัท รวมมูลค่าไม่เกินแสนล้าน เหตุ บอนด์ยีลด์พุ่ง กดดันต้นทุนพิ่ม หันระดมทุนช่องทางอื่นแทน เผยไตรมาส4 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 1.57 แสนล้าน เสี่ยงมีเม็ดเงินไหลออกบอนด์ไทยต่อเนื่อง
บอนด์ยีลด์สหรัฐ และไทยปรับตัวตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงนั้น และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังคงสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อนั้น ยังมีโอกาสที่จะทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก นอกจากจะส่งผลกระทบทำให้แรงขายในตลาดหุ้นแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อทำให้ต้นทุนการเสนอขายหุ้นกู้สูงขึ้น
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส3 ที่ผ่านมานี้ พบว่า มีบริษัทเอกชนได้ชะลอแผนการออกตราสารหนี้ระยะยาว (หุ้นกู้) ในปีนี้ไปก่อน ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จำนวน 1-2 บริษัท และบริษัทขนาดเล็ก (ไฮยีลด์ บอนด์) จำนวน 4-5 บริษัท ซึ่งมูลค่าออกเสนอขายรวมกันไม่ถึงแสนล้านบาท
สำหรับสาเหตุมาจากสถานการณ์บอนด์ยีลด์สหรัฐและไทยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ มีผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงขึ้น ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ และขนาดเล็กที่มีแผนออกหุ้นกู้นั้น ได้ปรับแผนการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อรอจังหวะตลาดและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
"พบว่า ผู้ออกรายใหญ่ เครดิตสูง และยังมีสภาพคล่องสูง จะรอจังหวะตลาดช่วงดอกเบี้ยต่ำหรือเปลี่ยนไปใช้วิธีการระดมทุนทางเลือกอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าแทน เช่น เงินกู้จากสถาบันการเงิน ส่วนผู้ออกรายเล็ก กลุ่มไฮยีลด์ บางส่วนได้เริ่มปรับแผนใหม่ เช่น ชะลอการลงทุนออกไป หรือขอเงินจากผู้ถือหุ้นแทน ”
อย่างไรก็ตามภาพรวมการออกหุ้นกู้ในช่วง 3 ไตรมาสปี 2566 มีมูลค่า 824,557 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2565 และเชื่อว่ามูลค่าการเสนอขายหุ้นกู้จนถึงสิ้นปีนี้อีก 200,000 ล้านบาท ทำให้ปีนี้มูลค่าเสนอขายหุ้นกู้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังพบว่า ผู้ออกหุ้นกู้รายอื่นๆ ยังคงแผนตามที่ได้ยื่นไฟลิ่งไว้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นางสาวอริยา กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 156,750 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade)133,919 ล้านบาท จำนวน 45 บริษัท สัดส่วน 85% บริษัทรายใหญ่ ยังไม่น่ากังวลว่าจะเกิดปัญหาในการชำระคืนหุ้นกู้เดิม สัดส่วนอีก 15% เป็นหุ้นกู้ไฮยิลด์ 22,830 ล้านบาท จำนวน 35 บริษัท
ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์ความเชื่อมั่นในตลาดที่ลดลง ย่อมส่งผลกระทบกับบางบริษัทอาจจะขายหุ้นกู้ได้ยากขึ้น จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าจะมีการปรับแผนอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้สูงสุด คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์,กลุ่มพลังงาน,กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ,กลุ่มธนาคารพาณิชย์
"หุ้นกู้ที่ประสบปัญหา เริ่มกระจายไปหลายอุตสาหกรรม และเกิดจากเหตุเฉพาะตัว ทางสมาคมตราสารหนี้ฯยังต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พบผู้ออกส่วนใหญ่มีแผนสำรองไว้แล้ว คาดว่าแนวโน้มในไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะมีทิศทางดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมา"
สำหรับหุ้นกู้ที่ประสบปัญหา (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA) ณ 30 ก.ย.2566 มูลค่ารวม 39,765 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ 73,057 ล้านบาท จำนวน 3 บริษัท THAI, PACE ,RICH) ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม มีเพียง 1 บริษัทที่เกิดปัญหาอย่างไม่คาดคิด คือ หุ้นกู้ JKN จำนวน 7 รุ่น ซึ่ง 1รุ่นที่เกิดปัญหา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติผ่อนผันการชำระหนี้แล้ว อีก 6 รุ่นยังต้องรอประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอผ่อนผันต่อไป
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์ ) ช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้ เป็นการไหลออกสุทธิไปแล้ว 155,000 ล้านบาท หากดอกเบี้ยเฟดยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย และตลาดความกังวลแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลทั้งสหรัฐและไทย จะมีซัพพายออกมาในตลาดค่อนข้างมากกดดันบอนด์ยีลด์ขึ้นได้
ดังนั้นมีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออกจากบอนด์ระยะสั้น ที่ยังเหลืออีกราว 80,000 ล้านบาท แต่หากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยและมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย
"ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองบอนด์ไทย คิดเป็น 5.6% เป็นระดับที่ปรับตัวลงมาต่ำสุดเท่ากับช่วงเมื่อ8ปีก่อน(ปี2558) แต่สัดส่วนดังกล่าวไม่น่าเป็นห่วง เพราะว่ามูลค่าคงค้างตลาดบอนด์ไทยปรับเพิ่มขึ้นที่ผ่านมาต่อเนื่อง และส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยที่ต่างชาติถือครองปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่8.3ปีจากสิ้นปีก่อนที่8 ปี จึงไม่มีผลต่อเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ไทย "