สู้รบ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์‘ ส่อเป็นสงครามตัวแทน ทำ ศก.โลกป่วน ดันราคาน้ำมันเฉียด 130 ดอลล์
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ห่วงความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลก-ไทยปั่นป่วน ดันราคาน้ำมันดิบพุ่งเฉียด 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ฉุด “บาทไทย” อ่อนค่าหนักทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้น
หลังจากกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” เปิดปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) ซึ่งระบุว่า ได้ยิงจรวดจำนวนมากข้ามไปยังชายแดนทางตอนใต้ของอิสราเอล เพื่อเปิดทางให้นักรบติดอาวุธเข้าไปในอิสราเอลแบบดาวกระจาย จนเกิดการสังหารประชาชนและจับตัวประกันจำนวนมาก
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. เวลา 18.20 น. นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) การต่างประเทศ ทวีตข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 12 คน โดยผ่านการยืนยันจากอิสราเอลแล้ว 2 คน ส่วนอีก 10 คนได้รับข้อมูลมาจากนายจ้าง ทว่ายังไม่ได้รับรายชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหมด เพราะต้องรอการตรวจสอบจากทางการอิสราเอล
จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศแถบตะวันออกกลางครั้งนี้ นอกจากการสูญเสียชีวิตของประชาชนซึ่งไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้นแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่นักวิเคราะห์จำนวนมากจับตาคือ “ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ”
โดย “น้ำมัน” สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดแรกที่ได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะสมรภูมิของการโจมตีเกิดขึ้นในภูมิภาคผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงว่าประเด็นนี้จะเข้ามาเป็นหนึ่งปัจจัยกดดันให้อุปทานการผลิตน้ำมันดิบโลกหดตัวลงหนักกว่าเดิม
สำทัพกับก่อนหน้านี้ที่ได้รับแรงบีบจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำของโลกอย่างโอเปก (OPEC) ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) เผยแพร่บทวิเคราะห์ “Knee-jerk surge: Oil experts predict market impact of Israel-Hamas conflict” ฉบับวันที่ 8 ต.ค. ว่า
ความขัดแย้งครั้งนี้อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกอย่างจำกัด เพราะทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน
เว้นเสียจากตลาดเห็นว่าความขัดแย้งในครั้งนี้จะขยายตัวอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่สงครามในระดับภูมิภาคที่สหรัฐ อิหร่าน รวมทั้งผู้สนับสนุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจนกลายไปเป็น “สงครามตัวแทน” กล่าวคืออิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮามาสเพื่อก่อสงครามกับอิสราเอลซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้สนับสนุน
หากเป็นเช่นนั้นอุปทานการผลิตน้ำมันโลกจะยิ่งปรับตัวลดลง และกดดันให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น จนดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานทั่วโลกขยายตัวขึ้นอีกครั้ง ท้ายที่สุดก็จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต้องกลับมาตัดสินใจอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไปหรือไม่
ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอิสราเอลมีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดน้ำมันดิบโลก
นอกจากผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกแล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ยังรายงานบทสัมภาษณ์ของออกัสติน คาร์สเตนส์ (Agustin Carstens) ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ผ่านบทวิเคราะห์ “Middle East conflict adds new risks to global economic outlook” ฉบับวันที่ 9 ต.ค. ว่า
จากสถานการณ์ทั้งหมดยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแม้ว่าตลาดน้ำมันและตลาดตราสารทุนจะได้รับผลกระทบ
โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ดัชนีหุ้นหลักในตะวันออกกลางปรับตัวลดลง นำโดยดัชนีหุ้น TA-35 ของอิสราเอลที่ร่วงลง 6.4% ซึ่งเป็นกาปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าสามปี ขณะที่ดัชนีหุ้น Tadawul All Share ของซาอุดีอาระเบียร่วงลง 1.6% ส่วนดัชนีหุ้นในกาตาร์และคูเวตก็อ่อนค่าลงเช่นกัน
รวมทั้ง ดัชนี EGX30 ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ก็ร่วงลง 2.6% หลังจากตำรวจอียิปต์เปิดฉากยิงใส่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในเมืองอเล็กซานเดรีย แถบเมดิเตอร์เรเนียน
ขณะที่ ณ เวลา 20.35 น. ของวันที่ 9 ส.ค. ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้น 3.54% หรือ 2.94 ดอลลาร์ จนไปอยู่ที่ 85.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent Oil Futures ขยับขึ้น 3.56% หรือ 3.01 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 87.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่าผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เพราะไทยส่งออกสินค้าไปอิสราเอลเพียง 0.3% รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็มาประเทศไทยไม่มาก
อย่างไรก็ตาม หากท้ายที่สุดความขัดแย้งครั้งนี้พัฒนาไปเป็นสงครามตัวแทนโดยมีอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์และสหรัฐอยู่เบื้องหลังอิสราเอลอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จนประเทศในแถบตะวันออกกลางอื่นเข้ามาร่วมด้วยก็อาจส่งผลกระทบต่ออุปทานการผลิตน้ำมันโลกให้กดตัวลงไปอีก ซึ่งก็จะกระทบต่อราคาน้ำมันดิบโลกให้ปรับตัวได้สูงถึง 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยก็จะต้องนำเข้าน้ำมันดิบในราคาที่แพงขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจไทยขาดดุลทางการค้ามหาศาลและค่าเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะสั้น
อ้างอิง