‘ตลาดทุน’ สกัดหลอกลงทุน ผุด ‘แคมเปญใหม่’ รู้ทันมิจฉาชีพ
ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนให้ลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น และมีในหลากหลายรูปแบบ โดยมีการปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา
ทำให้ภาคตลาดทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ เปิดแคมเปญ “เช็กทุกดอก ไม่โดนหลอกลงทุน” รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันการหลอกลงทุนภายใต้โครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน”
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน(CMDF)และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ข้อมูลย้อนหลังของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) พบว่าการหลอกให้ลงทุนโดยเฉพาะการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ติด 1 ใน 5 ของคดีอาชญากรรมออนไลน์ และสร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 11,500 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นตัวเลขที่สูง หากไม่ให้ความสำคัญจะเพิ่มขึ้น และส่งผลเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างได้
ขณะเดียวกันสถานการณ์การหลอกลงทุนของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบทั้งการแอบอ้างองค์กรโลโก้รูป และใช้ชื่อผู้บริหารในวงการตลาดทุน และผู้บริหารหลายหน่วยงานรวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกลวงให้มาลงทุนอีกทั้งให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงหลอกลวงให้มาลงทุนจนส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นทางCMDFซึ่งมีบทบาท และพันธกิจในการส่งเสริม และพัฒนาประสิทธิภาพของตลาดทุนไทย จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ภายใต้โครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภาคตลาดทุนองค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน จึงจัดทำแคมเปญ “เช็กทุกดอกไม่โดนหลอกลงทุน” ขึ้นมา
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการต่อขยายผลในแคมเปญนี้จะช่วงปัองกันให้เกิดสถานการณ์หลอกลงทุนของมิจฉาชีพเกิดขึ้นได้ยากที่สุดซึ่งแคมเปญนี้จะทำอย่างต่อเนื่อง มีการแจ้งข้อมูลการรวบรวมข้อมูลของการหลอกลงทุนเพื่อนำไปสู่การดำเนินการฟ้องร้องได้ต่อไป
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปีนี้ ก.ล.ต.ตรวจสอบพบการกระทำความผิดหลอกลวงลงทุน และแจ้งเตือนผู้ลงทุนผ่านInvestor aleart(1 ม.ค.-15 ต.ค.2566)จำนวน 239 เคส เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดหลอกลวงการลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ให้ร่วมลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินความเป็นจริงหรือไม่มีอยู่จริงไม่ว่าจะเป็นการชักชวนร่วมลงทุนในหุ้นหน่วยลงทุน และทองคำ
หลังจากที่ ก.ล.ต.ตรวจสอบพบการกระทำผิดหลอกลวงการลงทุนที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.จะมีการส่งเรื่องการกระทำความผิดดังกล่าวไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงการคลัง และเฟชบุ๊กเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย และสั่งปิดเฟชบุ๊กของมิจฉาชีพได้ทันทีก่อนที่ความเสียหายจะขยายวงกว้าง
นอกจากนี้หากประชาชนทั่วไปที่มีข้อสงสัยในเรื่องการลงทุนสามารถเข้าไป “เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน” ผ่านทางแอปพลิเคชัน SEC Check Frist หรือทางเว็บไซต์ของก.ล.ต.ได้ทันทีหรือโทรเช็กกับบริษัทที่สนใจจะลงทุนซึ่งหลังจากแคมเปญนี้ยังมีกิจกรรมมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องการลงทุนให้กับคนไทยอย่างต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์