ภาวะราคาสินทรัพย์ทรุดตัวเริ่มจำกัด
ภาวะการลงทุนตลอดเดือนที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นความผันผวนระดับโลก ที่ยากจะควบคุม ประเด็นสำคัญ ยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่เปราะบางในตะวันออกกลาง
ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ผลประกอบการครึ่งปีแรก ของบริษัทจดทะเบียนทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่างก็ทยอยประกาศออกมา โดยจุดสนใจส่วนใหญ่พุ่งไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และ ซอฟแวร์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ก็ยังคงเป็นปัจจัยต่อเนื่องที่มองข้ามไม่ได้ เรามาดูกันว่าความผันผวนที่มาจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อภาวะการลงทุนอย่างไร
ปฎิเสธไม่ได้ว่าภาวะการทรุดตัวลงของตลาดการลงทุนทั่วโลกมาจาก การต่อสู้ระหว่างประเทศอิสราเอล กับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และกำลังจะเข้าสู่การรบแบบเต็มรูปแบบ โดยอิสราเอลได้ประกาศว่าจะเคลื่อนกำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซ่า
โดยเป็นการรุกเข้าโจมตีทางภาคพื้นดินในเร็วๆนี้ จากภาพความเสียหายจากการสู้รบ และกระแสของการเมืองระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศ อิสลาม ตะวันออกกลาง และซีกโลกตะวันตกที่มีความเห็นขัดแย้งกันต่อเหตุการที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์จะบานปลายและขยายวงเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการถือครองเงินสดและทองคำมากกว่าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น และหุ้นกู้ ทำให้ภาวะการลงทุนทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม เทคโนโลยี ที่ทยอยออกมาก็ไม่ได้ทำให้ภาวะการลงทุนดีขึ้น เพราะนักลงทุนต่างก็กังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากสงครามที่เกิดขึ้นในสองภูมิภาคแล้ว ทำให้นักลงทุนก็ยังคงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
และในฟากฝั่งของสหรัฐเอง ก็ยังมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็กังวลว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ก็อาจจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลในเชิงลบมากไปกว่านี้ ทำให้โอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนหรืออาจะปรับขึ้นซักครั้งและคงเอาไว้ยาวๆดูมีความเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ได้ปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับ 5% เป็นครั้งแรกก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 4.80-4.90%
สำหรับประเทศไทยอาจจะกล่าวได้ว่าปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลถึงภาวะการลงทุนโดยรวมดังนั้น ประเด็นของประเทศไทยที่พูดถึงเรื่องของ เงินดิจิทัล หนึ่งหมื่นบาทก็ดูจะแผ่วลงไป เราคงให้ความสำคัญกับการนำคนไทยจากอิสราเอลกลับมาบ้านเรามากกว่าประเด็นอื่นๆ
ในมุมมองการลงทุนของเดือนนี้นั้น สถานการณ์ ยังคงเหมือนเดิมและน่าจะเริ่มนิ่งขึ้นการทรุดตัวของมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆน่าจะลดลง ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวน่าจะเริ่มแกว่งตัวลดลง อย่างไรก็ตามประเด็นหลักๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะสงครามในตะวันออกกลาง อีกประเด็นซึ่งสำคัญพอๆกัน คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในรอบเดือนพ.ย. แนวโน้มน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และ น่าจะยังคงให้มุมมองที่เข้มงวดต่อไป (Hawkish) โดย Fed จะยังเน้นย้ำว่าขึ้นกับภาพรวมของข้อมูล(Data Dependent) และแนวโน้ม(Trend) ของข้อมูลของเป็นสำคัญ ดังนั้น Fed อาจจะยังไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจุดไหนคือระดับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) แต่จะยังคงเข้มงวดต่อไป
สำหรับ พอร์ตการลงทุนในรอบนี้ ผมมองว่า สินทรัพย์เพื่อการลงทุนต่างก็ปรับตัวลงมาในระดับที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามการปรับพอร์ตครั้งนี้คงยืนอยู่บนสมมุติฐานปัจจุบันที่สถานการณ์การสู้รบไม่รุนแรงไปกว่านี้ และยังคงอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นการย่อตัวลงของตลาดหุ้นเรายังคงสัดส่วนการลงทุนที่ประมาณ 55% จัดเป็น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25 % ญี่ปุ่น และ เวียดนาม รวมกันไม่เกิน 10% ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ลงทุนใน ทอง น้ำมัน และ REITS รวมกันเป็น 5% โดยยังคงเน้นไปที่ REITS ครับ