‘ไทย’ ต้องเดินให้เร็วกว่าเดิม มุ่งเป้ายึด ‘ฮับของเทคโนโลยี-ฐานผลิตอีวี'
“อาทิตย์ นันทวิทยา” เทียบเศรษฐกิจไทยก็เหมือน “รถสปอร์ต” ที่อาจเป็นรถไม่มีน้ำมัน ไม่ได้ใช้ยางที่เหมาะสมกับสปีด และสเปกของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยศักยภาพที่ควรจะเป็น
เศรษฐกิจไทย ต้องการ “แรงขับเคลื่อน” อย่างมาก เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถแข่งขันได้หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ยังมีโจทย์อีกมากที่เป็น “การบ้าน” สำหรับประเทศไทย ในการก้าวไปข้างหน้าไปสู่ทิศทางที่ “ดีกว่าเดิม” ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ขีดความสามารถของประเทศที่ดีขึ้น
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ในโอกาสครบรอบ 36 ปี ถึงมุมมองของเศรษฐกิจไทย ที่มองว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยควรดีกว่านี้ แข็งแรงกว่านี้ แต่ยังไม่ดี และยังไม่แข็งแรง
และหากเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย ก็เหมือน “รถสปอร์ต” ที่อาจเป็นรถไม่มีน้ำมัน ไม่ได้ใช้ยางที่เหมาะสมกับสปีด และสเปกของตัวเอง ที่ผิดฝาผิดส่วน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยศักยภาพที่ควรจะเป็น
การหยิบยื่น “โอกาส” เพื่อส่งผ่านไปสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ วันนี้เป้าหมาย และทิศทางไม่ชัดเจน บริษัทขนาดใหญ่ ที่มีกำลังสามารถช่วยตัวเองได้ ไม่ว่าโลกจะปรับเปลี่ยนไปทิศทางใด แต่หากเหลียวมาดูบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่ค่อยเห็นโอกาสไปสู่คนเหล่านี้ การกระจุกตัวไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ รายได้ กระจายตัวไปตกอยู่กับคนที่มีกำลังค่อนข้างมาก
ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก ขาดทิศทาง ขาดการลงทุน ขาดการปรับตัวเอง ในขณะที่โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนมากขึ้น จากทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ล้วนมีผลต่อการทำธุรกิจต่อภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ
“ประเทศไทย” ควรมีระดับศักยภาพ ที่เป็นเหมือน “รถสปอร์ต” ที่ควรวิ่งได้เร็ว แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้น แถมยังป่วย คนจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในภาคเกษตร บริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก มีการปรับตัวช้า หรือปรับตัวไม่ตรงกับสิ่งที่โลกกำลังเดินทางไป
สิ่งสำคัญเพื่อให้ประเทศไปข้างหน้าได้ ต้องให้โอกาส เพื่อนำพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ภายใต้ข้อจำกัดของการมองประโยชนของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง วางบทบาทของตัวเองให้ถูกต้อง เพื่อช่วยภาครัฐในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ไปได้ โดยเฉพาะบทบาทของเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีกำลัง และแข็งแรง ที่ต้องมีส่วนร่วมนำพาประโยชน์ ผลประโยชน์มาสู่ทุกคน มากกว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา
“ผมหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลใหม่แล้ว จะช่วยลดความขัดแย้งให้น้อยลง สิ่งสำคัญคือ เราควรให้โอกาสกับตัวเราเอง กับประเทศของเรา เพื่อให้รัฐบาลที่เพิ่งเข้ามา ได้มีโอกาสทำงาน แต่หากคนที่มาบริหารประเทศต้องการจะเดินพาประเทศเดินไป แต่เราไม่ให้โอกาสตัวเราเอง ผมว่าประเทศก็มีแต่คำวิจารณ์ แต่สุดท้ายประเทศก็ไม่ได้ไปไหนเพราะว่าไม่ได้ทดลองทำอะไรไม่ได้ผลักตัวเองให้ไปข้างหน้าได้จริงๆ ผมคิดว่าในรัฐบาลชุดใหม่ มีความหวังว่าจะนำพาประเทศเราให้เดินไปข้างหน้าได้”
เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ยังไม่ดีเท่าที่ควร ภายใต้โลกที่ไม่ได้แข็งแรงมากนัก ขณะที่จีนอยู่ในช่วงที่ต้องระมัดระวัง หลายสิ่งหลายอย่างยังไม่กลับมาเหมือนที่เคยเป็น สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเน้น คือ การเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะในเซกเตอร์บริการ รวมถึงภาคการส่งออก ที่มีหลายสินค้าที่ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขัน ทั้งจากการไม่ลงทุนเพิ่ม หรือการปรับเปลี่ยนของโปรดักต์สินค้าต่างๆ
อีกทั้ง ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน คนมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เหล่านี้เป็นปัญหาสะสมมานาน จนน่าเป็นกังวลอย่างมาก จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังอยู่ในระบบของไทยมานาน ทำให้อาการป่วยของเศรษฐกิจไทย ค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การเยียวยา แม้จะช่วยได้บางส่วน แต่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร ที่เป็นโจทย์ใหญ่รัฐบาล ที่ต้องแก้ปัญหาที่มาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย จากการพึ่งพารายได้จากส่งออกท่องเที่ยวเป็นหลัก
การขับเคลื่อนประเทศไทย ต้องการมองภาพไประยะข้างหน้า ทั้งการผลักดันสนับสนุน เช่น การเปลี่ยนการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การเปลี่ยนภาคการเกษตรโดยการใช้นวัตกรรมใหม่ โดยการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว ฯลฯ
เหล่านี้ ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน แต่การเปลี่ยนเม็ดเงิน ไปสู่ผลประโยชน์ที่ให้กับภาคต่างๆ หรือการทำให้เกิดผลได้จริง เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และเป็นโจทย์สำคัญ ที่ผู้นำของภาครัฐ จะต้องเอาความคิดทั้งหมด มาทำให้ตกผลึก และสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อลดทอนความคิดเห็นต่างในสังคมด้วย
หากถามว่า วันนี้รัฐบาลมาถูกทางหรือไม่ เชื่อว่า เดินมาถูกทางแล้วในหลายเรื่อง แต่หลายเรื่องยังเดินช้าเกินไป และต้องเดินเร็วให้มากกว่านี้ หลายเรื่องที่เป็น “โอกาส” สำหรับประเทศไทย ทั้งเรื่องการเป็นฐานการผลิตอีวี การสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น การเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ การโปรโมทเทคโนโลยี ที่เป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก รวมถึงการสนับสนุนด้านเอไอ ที่เชื่อว่าไทยมีศักยภาพที่ทำได้
โดยเฉพาะ ในด้านเทคโนโลยี ที่จะเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพในหลายมิติ ไม่ว่าจะใช้ในภาคเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว
ในมุมของ “เอสซีบี เอกซ์” ก็เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่องค์กรสร้างเป้าหมายเพื่อที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ ทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเข้าถึงได้มากขึ้น รวมไปถึง การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ในการทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลับมาดูภาพเศรษฐกิจไทย หากเทียบเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอันดันต้นๆของอาเซียน มีศักยภาพเทียบเท่ากับเพื่อนบ้านมาก่อน แต่ในโชคไม่ดี คือการไม่ฉกฉวยโอกาสของการที่มีศักยภาพทีดี่ เพื่อให้เราเดินไปข้างหน้าได้ เสมือนรถยนต์ของไทยที่วิ่งช้าลง
ขณะที่เพื่อนบ้าน ที่แม้ไม่ใช่รถสปอร์ตแต่เคลื่อนที่ตลอดเวลา ยางดีตลอดเวลา ในอนาคตเพื่อนบ้านอาจเปลี่ยนสเปครถตัวเอง และไปเร็วกว่าประเทศไทยได้ แต่ไม่ถึงกับว่า ประเทศไทยไม่มี “โอกาส” และไม่มี “อนาคต” เชื่อว่ายังมี เพียงแต่ต้องจัดการปัญหาต่างๆที่พูดมาข้างต้นให้ได้
ท้ายที่สุดแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านความยากลำบากไปได้ แต่เราต้องยอมรับความจริง เช่น หากเราจะต้องมีหนี้เพิ่มขึ้น เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือคนในประเทศเดือดร้อนอย่างรุนแรงและจำนวนมาก แต่หากเพียงแต่เยียวยา ไม่เพิ่มผลิตภาพ ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลสามารถพูดให้คนเห็นความจำเป็นว่า ประเทศต้องการเยียวยาก่อน แต่หลังจากนั้น ต้องหารายได้เข้ามาสู่ประเทศให้เกิดความโปร่งใส ให้คนในสังคมเข้าใจอย่างถูกต้อง สุดท้ายเราจะเดินไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์