ค่าเงินบาทวันนี้ 9 พ.ย.66 ‘แข็งค่า’ หลังเฟดยังไม่ชัดเจนทิศทางศก.-ดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 พ.ย.66  ‘แข็งค่า’  หลังเฟดยังไม่ชัดเจนทิศทางศก.-ดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 พ.ย. 66 เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 35.53 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้บาทแข็งตามดอลลาร์ หลังประธานเฟดไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐ แต่ราคาทองลดลงต่อ เงินบาทยังไม่แข็งค่ามาก มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 35.35-35.65 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 35.53 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.59 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของ ราคาทองคำ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังประธานเฟดไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวมากขึ้น และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาท 

ค่าเงินบาทวันนี้ 9 พ.ย.66  ‘แข็งค่า’  หลังเฟดยังไม่ชัดเจนทิศทางศก.-ดอกเบี้ย

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ หรือ จนกว่าตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ชัดเจน นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย ก็ยังมีความผันผวน ดังที่เราได้ประเมินไว้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และทิศทางเงินบาทที่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งแข็งค่า และที่สำคัญ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจทำให้บรรดาผู้นำเข้าบางส่วนทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ได้บ้าง อีกทั้งในช่วงนี้ ราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบต่างปรับตัวลงต่อเนื่อง ก็ทำให้มีโฟลว์ธุรกรรม ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวจากผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม ซึ่งอาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ไม่ยาก

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมั่นใจมากว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า เริ่มตั้งแต่การประชุมเดือนพฤษภาคม ทำให้ หากถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว ก็อาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่า พร้อมกับ กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้

 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิOption เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ย่อตัวลงสู่ระดับ 4.50% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Chevron -1.4%, Exxon Mobil -1.2% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่ง ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.28% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในระยะนี้ที่ออกมาดีกว่าคาดบ้าง ขณะเดียวกัน หุ้นสไตล์ Growth และ หุ้นกลุ่มเทคฯ SAP +1.1% ยังพอช่วยพยุงตลาดหุ้นยุโรปได้บ้าง หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวต่างทรงตัว ทว่า การปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell -1.1% ก็เป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไปได้มาก

ในฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อในมุมมองว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง ใกล้ระดับ 4.50% ทั้งนี้ ในระยะสั้นหากผู้เล่นในตลาดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดไปมากนัก เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.50% และยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์อาจปรับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง และถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินเฟดอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 105.5 จุด (กรอบ 105.4-105.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ จะย่อตัวลงบ้าง ทว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงความกังวลต่อสถานการณ์สงครามที่ลดลง กอปรกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 1,955 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวลดลงดังกล่าว อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่า

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟด และ ECB  โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ถ้อยแถลงของประธานเฟด (ตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 2.00 น. ของเช้าวันศุกร์ ตามเวลาประเทศไทย) ที่คาดว่า จะมีการกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร 

และในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ว่าจะเพิ่มสูงขึ้น และสะท้อนภาพการชะลอตัวที่มากขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้หรือไม่