‘ญี่ปุ่น’เผยดัชนีราคาผู้ผลิต ต.ค.ชะลอตัว ต่ำสุดรอบ 2 ปี คลายแรงกดดันต้นทุน

‘ญี่ปุ่น’เผยดัชนีราคาผู้ผลิต ต.ค.ชะลอตัว ต่ำสุดรอบ 2 ปี คลายแรงกดดันต้นทุน

‘ญี่ปุ่น’เผยดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค.ชะลอตัวรุนแรง หลุดระดับ1% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี ส่งสัญญาณผ่อนคลายแรงกดดันด้านต้นทุนลดลง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันนี้ (13 พ.ย.66) ว่า เงินเฟ้อภาคค้าส่งของญี่ปุ่นชะลอตัวหลุดระดับ1% เป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านต้นทุนที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นแบบเป็นวงกว้างนั้นเริ่มลดน้อยลงแล้ว

ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากภาคค้าส่ง ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้น 0.9% ซึ่งชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ตัวเลขCGPI ออกมาอ่อนแอกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Price Index) ที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนก.ย.

รวมทั้งเงินเฟ้อภาคค้าส่งของญี่ปุ่นชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แล้ว และหลุดระดับ 1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564

รายงานระบุว่า เงินเฟ้อภาคค้าส่งของญี่ปุ่นชะลอตัวลงเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ปรับลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ และเหล็กกล้า ซึ่งตอกย้ำถึงผลกระทบจากการที่ต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงทั่วโลก

โดยเงินเฟ้อภาคค้าส่งที่พุ่งทะยานขึ้นก่อนหน้านี้ได้กดดันให้บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับภาคครัวเรือนผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นคาดการณ์เงินเฟ้อตามการคาดการณ์รายไตรมาสที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนในเดือนต.ค.

อย่างไรก็ตาม BOJ ระบุว่า เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนพุ่งสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ต้องแก้ไขด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และอัตราค่าจ้างที่เติบโตขึ้นก่อน จึงทำให้ BOJ จึงจะพิจารณายุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ

 

อ้างอิง Bloomberg 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์