ธปท.ชี้ แบงก์เข้มปล่อยกู้ ฉุดสินเชื่อเอสเอ็มอีดิ่ง 5 ไตรมาสติด
ธปท. ชี้สินเชื่อไตรมาส 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่หดตัว 0.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัว 0.4% ถือเป็นการติดลบไตรมาสแรก แต่สินเชื่อเอสเอ็มอี ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ผลมาจากแบงก์ระมัดระวังปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งผลให้ยอดอนุมัติสินเชื่อต่ำลง
นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3 ออกมาหดตัวมากขึ้น ที่ 0.9% หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาหดตัวเพียง 0.4%
ซึ่งเป็นการติดลบเป็นไตรมาสแรก แต่หากดูสินเชื่อเอสเอ็มอี พบว่า ไตรมาส 3 เป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 5 โดยมาอยู่ที่ลบ 5.7% ในไตรมาสนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจในภาพรวมติดลบที่ 2.1% จาก1.5%ในไตรมาสก่อน
โดยสินเชื่อที่หดตัว ส่วนหนึ่งมาจาก สถาบันการเงินมีการเข้มงวด และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งผลให้วงเงินในการอนุมัติสินเชื่อใหม่สำหรับเอสเอ็มอี ลดลงต่ำลงเหลือเฉลี่ยเพียง 3 แสนบาทต่อราย หากเทียบกับช่วงก่อนโควิด ที่อัตราการปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 3 แสนบาท ถึง 100 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่หดตัวยังมาจาก การชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่สูงเทียบเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 โดยคิดเป็นยอดชำระคืนหนี้กว่า 2แสนล้านบาท
“สินเชื่อที่หดตัวในไตรมาส 3ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเอสเอ็มอี ส่วนหนึ่งมาจากการชำระหนี้คืน ทั้งลูกหนี้ภาครัฐ และเอสเอ็มอีกว่า 2แสนล้านบาท จากมาตรการซอฟท์โลนที่ครบกำหนดการชำระคืน รวมถึงการเข้มงวดในการปล่อยกู้ของแบงก์เพิ่มขึ้น”
ส่วนสินเชื่อรายย่อย มีการขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ที่ชะลอตัวมาอยู่ที่ 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตได้1.6% ส่วนหนึ่งมาจากการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ตามแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อที่มีโอกาสด้อยลง
รวมไปถึงสินเชื่อบ้าน ที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.4% จาก2.8% สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวลง จากต้นทุนการกู้ยืมเงินที่อยู่ระดับสูงขึ้น และค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ที่เป็นปัจจัยกระทบต่อการตัดสินใจซื้อบ้านลดลง โดยเฉพาะ กลุ่มรายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ
ส่วนแนวโน้ม หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.7% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.67% หลักๆมาจากคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือสินเชื่อรายย่อย ที่คุณภาพด้อยในทุกหมวดสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้ยอดยอดหนี้เสียโดยรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.94แสนล้านบาท
ส่วนผลของอัตราดอกเบี้ย ที่ธปท.มีการปรับขึ้นในตลอดระยะเวลากว่า 1ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย ที่อัตราดอกเบี้ยมีการส่งผ่านเพียง 49% หากเทียบกับธุรกิจที่มีการส่งผ่านสูงถึง 69% แต่มีบางที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย
โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ และสินเชื่อบ้านที่หมดช่วงโปร สำหรับ 3ปีแรก ที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อบ้าน ปกติแบงก์จะมีการ Buffer หรือกันชนเผื่อไว้แล้วส่วนใหญ่ไม่เกิน 1% เพื่อรองรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่หากนับตั้งแต่ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน บวกกับต้นที่มีมาจาก FIDF โดยรวมแล้ว MRR ขึ้นมาแล้วที่ราว 1.4%
“อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เราไม่ได้บอกว่าลูกหนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะมีผลกระทบมากหรือน้อยเท่านั้น ดังนั้นสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เราก็ได้มีการหารือกับสถาบันการเงิน เพื่อให้มีการติดตามคุณภาพลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และบางราย หากลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากๆ ก็ให้มีการติดตามลูกค้ามาทำสัญญา ปรับสัญญาการผ่อนชำระที่ลดลงได้”