รู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ 'Thai ESG' จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยได้แค่ไหน?
ชวนไปทำความรู้จักกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ Thai ESG กองทุนใหม่ที่คนไทยจะได้นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษี ส่วนจะมีเงื่อนไขอย่างไร แล้วจะหนุนตลาดหุ้นไทยให้ฟื้นตัวในช่วงสุดท้ายของปีได้หรือไม่ ต้องติดตาม
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในการจัดตั้งกองทุนใหม่ นั่นก็คือ กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) หรือ Thai ESG ซึ่งจะลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทในไทยที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และกองทุนดังกล่าวยังถือเป็นกองทุน ลดหย่อนภาษี ใหม่ โดยหนึ่งในเหตุผลของการจัดตั้งกองทุนคือ ต้องการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวใน ตลาดหุ้นไทย และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจโดยเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นบริษัท ESG มากขึ้น
เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของ Thai ESG
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวผ่านการลงทุนในธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน และสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2566 (ยื่นภาษีในปี 2567) โดยรายละเอียดและเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของกองทุน Thai ESG มีดังนี้
- กองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ หุ้นยั่งยืน และตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
- ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุน Thai ESG ในอัตราไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่นำไปรวมกับวงเงินของกองทุน SSF RMF และหมวดการ ลดหย่อนภาษี เพื่อการเกษียณอื่นๆ ที่ได้วงเงินลดหย่อนภาษีรวมกันสูงสุดไม่เกิด 500,000 บาท
- ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยสามารถเริ่มซื้อหน่วยลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 โดยไม่มีขั้นต่ำและไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศ
- การขายหน่วยลงทุน Thai ESG ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีเงินได้ หากถือครบเงื่อนไขขั้นต่ำ 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ
กองทุนลดหย่อนภาษีของไทยในอดีตมีผลกระทบต่อ SET Index ขนาดไหน?
ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา กองทุนที่นักลงทุนสามารถใช้สิทธิในการ ลดหย่อนภาษี ได้เปลี่ยนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นไทย มาเป็นกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Funds : SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ได้ ทำให้หลายคนให้เหตุผลในการปรับตัวลดลงของ ตลาดหุ้นไทย ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นเพราะไม่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในกองทุน LTF เข้ามาซื้อหุ้นไทยเหมือนที่ผ่านมา โดยในอดีตกองทุน LTF จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท
ผลตอบแทนของ SET Index ในช่วงที่มีกองทุน LTF และ SSF
ที่มา : SET
สำหรับผลตอบแทนของ SET Index ในช่วงที่ยังมีกองทุน LTF (ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2004 ถึง 31 ธันวาคม 2019) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 193.8% โดยในช่วงต้นของการลงทุนใน LTF ที่มีเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีปฏิทิน (ปี 2004-2015) SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 139.5% และในช่วงหลังที่ LTF มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปีปฏิทิน (ปี 2016-2019) SET Index ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ราว 22.7%
ทุน SSFX ที่เป็นกองทุนพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยพยุงหุ้นไทยในช่วงที่ปรับตัวลดลงมาแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยสามารถลงทุนได้แค่ช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2020 และทุกกองทุนต้องมีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นไทยเท่านั้น ซึ่งผลตอบแทนของ SET Index ในช่วงที่มีกองทุน SSFX ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ราว 21.1% ขณะที่กองทุน SSF ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมาจนถึงปัจจุบัน (17 พฤศจิกายน 2023) SET Index สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 28% ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะดัชนี SET Index ในช่วงเริ่มต้นเดือนเมษายนนั้น อยู่ที่ระดับราว 1,105 จุด เท่านั้น เนื่องจากตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด
ด้านเม็ดเงินลงทุนที่มาจากกองทุน SSF พบว่า กองทุน SSFX ที่เปิดให้ลงทุนได้เพียงแค่ช่วง 3 เดือน เท่านั้น มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 8,885 ล้านบาท โดยเงื่อนไขการลงทุนคือ สามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้สูงสุด 200,000 บาท โดยไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุน RMF SSF แบบธรรมดาและกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ ส่วนกองทุน SSF แบบธรรมดา มีขนาดทรัพย์สินสุทธิรวมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2022 ราว 50,000 ล้านบาท โดยเป็นกองทุนหุ้นไทยที่จัดอยู่ในหมวด Equity Large-Cap ราว 15,000 ล้านบาท
คาดการณ์ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะข้างหน้า
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า ตลาดหุ้นไทย จากกองทุน Thai ESG ในปีแรกราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน่าจะสามารถจัดตั้งและเปิดให้นักลงทุน ลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ซึ่งถือว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี เนื่องจากที่ผ่านมาหากย้อนกลับไปดูสถิติจากกองทุน LTF เฉลี่ยรายเดือนตั้งแต่ปี 2005-2019 เดือนธันวาคม คือเดือนที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามากองทุนมากที่สุดราวเกือบ 20,000 ล้านบาท แต่เงื่อนไขการ ลดหย่อนภาษี ของ LTF ที่สามารถใช้สิทธิได้มากกว่า คือสูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท นั่นก็หมายความว่าถึงแม้กองทุน Thai ESG จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเท่ากับหรือมากกว่ากองทุน LTF แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เม็ดเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยก็อาจจะไม่เท่ากับช่วงที่มีกองทุน LTF
อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา มีปัจจัยลบจากทั้งภายนอกและภายในกดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลง และเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนติดลบมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ดังนั้นอย่างน้อยการเกิดขึ้นของกองทุน Thai ESG ก็น่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นขึ้นได้บ้างในช่วงเดือนสุดท้ายของปี และยังน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหุ้นไทยได้อีกในระยะยาว
ที่มา : Morningstar Direct, SET, Thansettakij, Prachachat, Bangkokbiznews และ Thairath
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds