เปิดแผนปีงบ 67 รัฐระดมทุนผ่าน ESG บอนด์สูง 1.3 แสนล้าน
สบน.เปิดแผนระดมทุนรัฐบาลปีงบ 67 สูง 2.4 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ใหม่ 7 แสนล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ 1.7 ล้านล้านบาท มากกว่า 50% เป็นการระดมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ส่วน ESG Bond มียอดระดมราว 10% หรือ 1.3 แสนล้านบาท เผยยอดความสนใจลงทุน ESG Bond พุ่งสูงกว่า 3 เท่า
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนทุกกลุ่มยังคงให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในระดับค่อนข้างสูง เพื่อแสดงถึงความตระหนักในการลงทุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในฐานะผู้ระดมทุนจึงปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว
โดยความสนใจเข้าร่วมประมูลพันธบัตรดังกล่าวของนักลงทุนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนจากจากต้นปี 2566 มียอดแสดงความสนใจลงทุน(BCR)ที่ 1.34 – 3.06 เท่าของวงเงินที่ประกาศ ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้มีการออก ESG Bond ในตลาดอย่างต่อเนื่องจนมียอดคงค้างในตลาด ESG Bond อยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล 4.12 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ภาคเอกชน 2.48 แสนล้านบาท
ปีงบ 67 สบน.มีแผนออก ESG บอนด์ราว 1.3 แสนล้าน
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะสบน.เผยว่า ในส่วนของพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนนั้น (Sustainability Bond) สบน. ได้มีการออกSustainability Bond รุ่นอายุ 15 ปีเพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมตลาด ESG ในประเทศให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สร้างความตระหนักในการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออก ESG Bond รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.2 -1.3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และคิดเป็น 10%ของปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ทั้งนี้ สบน.ได้มีการประสานงานกับนักลงทุนหลักผ่านการประชุม Market Dialogue ซึ่งจัดเป็นรายไตรมาส พร้อมกับติดตามผลการประมูลพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
“เราพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนทุกกลุ่มยังคงให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในระดับค่อนข้างสูง เพื่อแสดงถึงความตระหนักในการลงทุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม”
เปิดแผนระดมทุนรวมรัฐบาล 2.4 ล้านล้าน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลมีความต้องการระดมทุนอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้ใหม่ประมาณ 7 แสนล้านบา และการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.70 ล้านล้านบาท
สบน. จะใช้กลยุทธ์กระจายการระดมทุนผ่านเครื่องมือกู้เงินที่หลากหลาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้ครอบคลุมนักลงทุนทุกกลุ่ม โดยจะพิจารณาพันธบัตรรัฐบาลเป็นอันดับแรกเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของความต้องการระดมทุนของรัฐบาล เนื่องจาก มีต้นทุนการกู้เงินอยู่ในระดับต่ำ สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ในระยะยาวและเป็นประโยชน์ในการบริหารพอร์ตหนี้ให้กับภาครัฐ
ลำดับถัดมา สบน. จะพิจารณาการระดมทุนผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) สัญญากู้เงิน(Term Loan) และตั๋วเงินคลัง (T-bill) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้หรือป้องกันการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชนในช่วงใดช่วงหนึ่ง (Crowding out)
นอกจากนี้ สบน. ยังคงให้ความสำคัญกับการออมในภาคประชาชนและจะพิจารณาออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond) อย่างสม่ำเสมอเพื่อสนับสนุนการออมในภาคประชาชนและนักลงทุนรายย่อย
ตลาดการเงินโลกผันผวนปัจจัยหลักกระทบแผนระดมทุน
ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่กระทบต่อการระดมทุนของรัฐบาล คือ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ล้วนส่งผลต่อการระดมทุนของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี สบน. มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามสภาวะตลาดและดูแลสภาพคล่องของตลาดเงินตลาดทุน รวมถึง หารือเกี่ยวกับความต้องการของนักลงทุนและแง่มุมการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ผ่านการประชุม PDMO Market Dialogue เป็นประจำในทุกไตรมาสเพื่อกำหนดแนวทางการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดการเงินในแต่ละช่วงเวลาตลอดจนให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 2.69% ต่อปี
สบน. ดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ด้วยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลตามข้อแนะนำของธนาคารโลก(World Bank) ในการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงของหนี้ โดยมีการจัดการความเสี่ยงของหนี้ใน 3 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้
ข้อมูล ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 11.13 ลลบ. คิดเป็น62.44%ของ GDP แบ่งเป็น หนี้รัฐบาลจำนวน 9.78 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 1.29 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากเครื่องมือการระดมทุนของรัฐบาล ซึ่งมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือการกู้เงินหลัก จะเห็นได้ว่า ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กว่า 86% โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 2.69% ต่อปี ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำมาก หรือคิดเป็น 0.48% ของหนี้สาธารณะความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ระดับต่ำ และ Average Time to Maturity อยู่ที่ประมาณ 9 ปี