ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ม.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดปิดความเสี่ยง หนุนดอลลาร์แข็งค่า
ค่าเงินบาทวันนี้ 3 ม.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดการเงินผันผวน จากตลาดปิดความเสี่ยง หนุนดอลลาร์แข็งค่า และโฟลว์เข้าซื้อทองในจังหวะย่อตัว กดเงินบาทอ่อนค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดเช้านี้ ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามที่เราได้ประเมินไว้ ว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มชะลอลง และมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ (แกว่งตัวในช่วง 34.12-34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.00% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ก็มีส่วนยิ่งกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับทิศทางทยอยแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่จะชี้ชะตาว่า เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่
อาจขึ้นกับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยหากดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต หรือ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งหนุนการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็กลับมาในจังหวะที่ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นมากขึ้น เช่นเดียวกันกับในฝั่งบอนด์ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้ และสร้างแรงกดดันต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ไทย
ทั้งนี้ เราคงประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากจากโซนแนวต้านสำคัญ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ รวมถึงรอเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีนี้) ส่วนโซนแนวรับเงินบาท เรามองว่า โซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวรับที่เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าผ่านไปได้ง่ายนัก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนที่ชัดเจน
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะ Apple -3.6% ที่ปรับตัวลงแรงจากการปรับลดความน่าลงทุนโดยนักวิเคราะห์ในตลาด นอกจากนี้ การทยอยรีบาวด์ขึ้น ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.63% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.57%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.11% กดดันโดยแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -2.6% หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวทยอยปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม Dior -3.0% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.95% โดยส่วนหนึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับสถานะถือครองบอนด์บ้าง ก่อนที่จะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต้องทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองเดิมของเราว่า ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว แต่ยังมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 102.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.6-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ทยอยปรับตัวลดลง ใกล้โซนแนวรับ 2,060-2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย ISM (Manufacturing PMI) เดือนธันวาคม รวมถึง รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) นอกจากนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ราว 2.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ตลาดจะจับตารายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดและนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดเช่นกัน