เปิดเทรนด์สินทรัพย์น่าสนใจ เสริมภูมิคุ้มกันพอร์ตลงทุน ปี 2567
สินทรัพย์น่าสนใจปี 2567 นี้ กลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นกู้คุณภาพสูง ล้วนมีโอกาสให้ผลตอบแทนได้ดี ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนขยายตัวดี
สวัสดีปีใหม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ ในโอกาสก้าวสู่ปี 2567 นี้ ดิฉันขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง ใครที่ลงทุนก็ขอให้พอร์ตลงทุนแข็งแกร่ง รับมือได้ทุกสถานการณ์ค่ะ และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้พอร์ตลงทุนของท่าน ดิฉันได้มัดรวมมุมมองการลงทุนปี 2567 ที่ SCB CIO จัดทำไว้ มานำเสนอ เพื่อให้ทุกท่านได้ใช้เป็นแนวทางในการลงทุนค่ะ
สำหรับปี 2567 นี้ ภาพที่เราจะเห็น คือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่ยังเป็นบวก โดยเศรษฐกิจแต่ละประเทศจะชะลอตัวไม่เหมือนกัน (Uneven slowdown) จากภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป ซึ่งเราคาดว่า ภาวะนี้จะอยู่ต่อไปอย่างน้อยช่วงครึ่งแรกของปี 2567 โดยที่นักลงทุนต่างคาดหวังว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น หลังจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาด ยกเว้น ญี่ปุ่น ที่ธนาคารกลางมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง หลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
ส่วนความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การเกิดภาวะเศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) ซึ่งเรา มองว่า กลุ่มประเทศในยุโรป รวมถึงอังกฤษ มีความเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูงกว่าภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ยังมีประเด็นธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก มีความเสี่ยงต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมากจากไม่กี่ปีก่อน และความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ไต้หวัน อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่มีการหาเสียงและประกาศนโยบาย ก็อาจทำให้ตลาดการลงทุนผันผวนได้ ส่วนประเด็นสภาพคล่องทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากการใช้นโยบายดูดสภาพคล่องในระบบออกมา (Quantitative Tightening : QT) ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจกระทบตลาดการเงินได้
ด้วยความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่หลายประการเช่นนี้ เราจึงแนะนำให้นักลงทุน ระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูง เลือกบริษัทที่มีงบดุลแข็งแกร่ง กำไรเติบโตสม่ำเสมอ รองรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ รวมทั้งดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ด้วย ที่สำคัญ คือ ควรจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Asset Allocation) ในกรณีที่รับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ นอกจากลงทุนในประเทศ ก็ควรแบ่งเงินอีกส่วนไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี จากทั้ง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในส่วนของตราสารหนี้ที่สูงกว่าของไทย และ ในส่วนของตลาดหุ้นที่ธุรกิจมีความหลากหลายมากกว่า
สำหรับ สินทรัพย์ที่น่าสนใจในปี 2567 นี้ ถ้าเป็นกลุ่มตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาลทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งหุ้นกู้คุณภาพสูง (Investment Grade) ก็ล้วนมีโอกาสให้ผลตอบแทนได้ดี จากความเสี่ยงที่ราคาจะปรับตัวลดลงต่อ ลดลงไปมากแล้ว หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายไปแล้วและคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจาก ดอกเบี้ยจ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ได้ปรับตัวลดลงซึมซับข่าวเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed ไปค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น ราคาพันธบัตรจึงอาจจะมีโอกาสปรับตัวขึ้น (upside) จำกัดในระยะสั้น สำหรับตราสารหนี้ที่มีอายุยาว ดังนั้น หากจะลงทุนในตราสารหนี้ ก็ควรจะเน้นเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีการบริหารอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตลงทุน
ขณะที่ หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield) เป็นสินทรัพย์ที่ควรหลีกเลี่ยงลงทุน โดยเรามองว่า ส่วนต่างผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลยังต่ำเกินไป ในขณะที่ ความเสี่ยงเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงยังมีอยู่ อีกทั้งมีหุ้นกู้ High Yield จะครบกำหนดไถ่ถอนและต้องระดมทุนใหม่มาชำระคืนหนี้เดิมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้นในช่วงปี 2567 ต่อเนื่องไปถึงปี 2568
สำหรับ การลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เรามองว่าตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และความชัดเจนของนโยบายการเงินหลัง Fed ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยควรให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด (Quality Growth) และกลุ่มที่ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจ (Defensive) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มขยายตัวดี และคาดว่าจะมีแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ตลาดหุ้นอินเดีย ที่ได้แรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสูง ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในช่วงการขยายตัว และมูลค่าหุ้นไม่แพงมากเมื่อเทียบกับอดีต และตลาดหุ้นไทย ที่ราคาปรับลดลงตอบรับปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการส่งออกและท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในส่วนของ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น ทองคำ และน้ำมัน เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรมีติดพอร์ตไว้ค่ะ โดยกรณีรับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจมีติดพอร์ตไว้ประมาณ 3-5% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากประเด็นความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์
จะเห็นได้ว่า ในปี 2567 นี้ โอกาสลงทุนมีรอท่านอยู่ทั้งในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ และสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้น แต่ด้วยความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนหลายประการที่ยังมีอยู่ การลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ การกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อใดที่สินทรัพย์บางประเภทเผชิญความผันผวนอยู่ พอร์ตลงทุนของท่านก็จะยังเป็นพอร์ตที่แข็งแกร่ง ทำผลงานได้ดี ฝ่ากระแสความผันผวนไปได้ จากสินทรัพย์ประเภทอื่นภายในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนได้ดีนั่นเอง