ธปท.ห้ามคิด ‘ดอกเบี้ย-ค่าปรับ‘ปิดหนี้ก่อนกำหนด ttb ชี้แข่งขันเป็นธรรมขึ้น

ธปท.ห้ามคิด ‘ดอกเบี้ย-ค่าปรับ‘ปิดหนี้ก่อนกำหนด ttb ชี้แข่งขันเป็นธรรมขึ้น

“แบงก์ชาติ” ประกาศ “ห้าม” แบงก์-นอนแบงก์-ผู้ให้บริการคิด “ดอกเบี้ย-ค่าปรับ-ค่าบริการอื่น” กรณีปิดหนี้ก่อนกำหนด หวังเปิดทางเลือกให้ลูกหนี้ปิดหนี้เร็วขึ้น ส่งเสริมการแข่งขันของผู้ประกอบการมากขึ้น ‘ทีทีบี’ ชี้ไม่กระทบแบงก์ หนุนการปล่อยกู้มีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น

ตั้งแต่สิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยออกประกาศหลายฉบับ ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ การเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และภายใต้การประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับ รวมไปถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจ “ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับกรณีที่ผู้บริโภค “ไถ่ถอน” หรือ “ชำระหนี้ก่อนครบกำหนด” (Prepayment fee) ทั้งจำนวน และบางส่วน
 

ทั้งนี้ หลักๆ ก็เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการไถ่ถอน หรือชำระคืนสินเชื่อก่อนครบกำหนด หรือลดปัญหาอุปสรรคในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ (Refinance) จึงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ กำหนดให้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ต้องพิจารณาการให้สินเชื่อจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ สอดคล้องกับหลักการประกาศของ ธปท. ว่าด้วยการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) โดยเกณฑ์ดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ประกาศห้ามแบงก์คิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับและค่าบริการอื่นๆ กรณีที่ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้น ส่วนนี้ประเมินว่าไม่น่าจะกระทบกับแบงก์ เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อภายใต้กำกับธปท. ในปัจจุบันมีการให้สินเชื่อแบบ “ลดต้นลดดอกเบี้ย” สำหรับลูกหนี้อยู่แล้ว ซึ่งกรณีที่ปิดหนี้ก่อนกำหนด หรือชำระหนี้มากกว่าค่างวดที่กำหนด

ทั้งนี้ ในส่วนของทีทีบี ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1-2% เท่านั้น ที่มีการปิดหนี้ก่อนกำหนด หรือคิดเป็นหลักหลายพันล้านบาทต่อปี หากเทียบกับสินเชื่อรอยย่อยที่ปล่อยทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าการกำหนดมาตรฐานเกณฑ์การให้สินเชื่อดังกล่าวจะเป็นส่วนที่ช่วย “ลูกหนี้” มากขึ้น ทั้งลดภาระลูกหนี้ให้ลดลง และให้ได้รับดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการทำให้การปล่อยสินเชื่อมีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้นทั้งระบบ เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการมีความหลากหลาย ทั้งภายใต้กำกับและนอกกำกับ ดังนั้น การมาอยู่ภายใต้เกณฑ์เดียวกัน จะทำให้เกิดการแข่งขันด้วยมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น

“การคิดดอกเบี้ยของแบงก์ในปัจจุบัน เช่น รถใหม่เกิน 15% ต่อปี รถเก่า 10% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่านอกระบบ และที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ส่วนใหญ่มีลดต้นลดดอกเบี้ย ทำให้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถปิดหนี้ได้ก่อนกำหนดอยู่แล้ว ดังนั้นส่วนนี้แบงก์มองว่าไม่กระทบ และจะทำให้การปล่อยสินเชื่อทั้งระบบเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบมากขึ้น"

ส่วนการประกาศเกี่ยวกับ การสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ส่วนนี้เป็นสิ่งที่แบงก์มีการเตรียมพร้อมมาสักระยะแล้วตั้งแต่ปี 2566 เช่นการไม่โฆษณาเกินไป การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น โดยหลังจากนี้อาจเป็นการโฆษณาผ่านแคมเปญการตลาดลดลง 

อย่างไรก็ตาม ระยะข้างหน้า ยอมรับจะมีการเข้มงวดมากขึ้นในด้านการปล่อยสินเชื่อ โดยดูจากภาระหนี้ผู้กู้มากขึ้น เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับรายได้ และให้ผู้กู้มีรายได้เหลือเพียงพอในการดำรงชีพ

โดยปัจจุบันธนาคารมีการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ผู้กู้ (DSR) ก่อนขอสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 50% หรือบางกรณี ที่มีรายได้สูง กำหนด DSR ไว้ไม่เกิน 70% แปลว่า การให้สินเชื่อหลังจากนี้ ผู้กู้จะต้องมีเงินเหลือในการใช้ดำรงชีพอย่างน้อยครึ่งของรายได้

ซึ่งต้องยอมรับว่า อาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางส่วน ให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แม้ไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ แต่หากภาระหนี้สูงเกินไป โอกาสในการให้สินเชื่อของแบงก์ก็อาจลดลงได้

“เบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 70% สำหรับคนที่มีภาระหนี้ต่ำๆ การก่อหนี้ก็อาจวิ่งไปได้ถึง 70% ต่อไปเราอาจมีการกำหนดรายได้ของผู้กู้มากขึ้น ว่าอาจต้องเหลือเท่าไหร่ ถึงสามารถขอกู้ได้ เพื่อให้ลูกหนี้ไม่มีปัญหาชำระหนี้ในอนาคต”