‘แพลนบี’ ผู้ชนะในสงครามอีวีไทย โกยรายได้จากค่ายรถที่แข่งชิงส่วนแบ่งตลาด
หรือ ‘แพลนบี’ อาจเป็นผู้ชนะในสงครามอีวีไทย หลังจากที่โกยรายได้จากป้ายโฆษณา ซึ่งมีลูกค้าหลายรายจากค่ายรถไฟฟ้า ที่ต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทำให้ในปี 2567 แพลนบีอาจมีรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้กลุ่มเดียวเพิ่มขึ้น 27% เกือบ 1.4 พันล้านบาท
ต้องยอมรับว่าปีที่ผ่านมา 2566 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV ในไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดถึง 271.6% (YoY) ไปแตะระดับ 50,000 คัน เพิ่มขึ้นจาก 13,454 คันในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมนี้ส่งผลกระทบที่ตามมาต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบ
ข้อมูลจาก KKPS Sales Report สะท้อนว่าผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาด BEV คือ ธุรกิจประเภทสื่อโฆษณานอกบ้าน (OOH) อย่าง PlanB น่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดเนื่องจากผู้ผลิต BEV รายเดิมและรายใหม่ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย
โดยคาดการณ์ว่า บมจ.แพลนบี มีเดีย (PLANB) อาจมีรายได้จากการโฆษณาของภาคธุรกิจยานยนต์เกือบ 1.4 พันล้านบาท ในปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณ 27% ของปี 2566 ที่ทั้งปี นั้น PlanB จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.1 พันล้านบาท หลังจากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกๆ ไตรมาส
ทั้งนี้ PLANB เปิดเผยงบ 9 เดือน 2566 (ณ วันที่ 30 ก.ย.66 ) มีรายได้ทั้งหมด 5.9 พันล้านบาท มีกำไร 620 ล้านบาท เติบโต 28.1% จากปีก่อน
PLANB โตสวนทางหลายธุรกิจถูกกดดัน
ในขณะที่ธุรกิจหลายภาคส่งได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของ BEV เช่น ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE)ที่ต้องปรับตัว และแข่งขันกับซัพพลายเออร์จากประเทศจีน รวมถึงผู้ค้าปลีกน้ำมัน และปั๊มน้ำมันอาจเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญจากการนำรถยนต์ไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้ามาใช้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หันมาชาร์จยานพาหนะที่บ้านมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2593 อาจลดลงถึง 20% จากระดับปัจจุบัน และความเสี่ยงที่ตามมาคือ ราคารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมือสองจะลดลง
สำคัญไปกว่านั้น ประเทศไทยอาจเสียตำแหน่ง ศูนย์กลางการผลิต และส่งออกรถยนต์ ในยุคที่ตลาดมีความนิยม EV และมีข้อเสียเปรียบบางประการในการแข่งขันกับจีน และอินโดนีเซียนั่นคือ “แร่หายาก”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์